ความเป็นมา
        วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เป็นปัจจัยในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไปสู่เศรษฐกิจและสังคมฐานความรู้ ซึ่งจะทำให้ประเทศมีความสามารถในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงอันเกิดจากกระแสโลกาภิวัฒน์ (การเคลื่อนย้ายข้ามประเทศอย่างเสรีของปัจจัยการผลิตที่สำคัญ ได้แก่ ทุน บุคลากร สินค้าและบริการ และข้อมูลความรู้แล้วข่าวสาร) และรับมือกับประเด็นอุบัติใหม่ที่ส่งผลกระทบสำคัญต่อประเทศ อาทิ การเข้าสู่สังคมสูงอายุ การเผชิญกับวิกฤติพลังงาน การจัดการด้านการกีดกันทางการค้า การพัฒนาระบบสาธารณสุขแนวใหม่ และการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

        อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันความสามารถทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ของประเทศไทยยังอยู่ในระดับที่ไม่น่าพอใจนัก เมื่อเทียบกับประเทศที่มีความก้าวหน้าในภูมิภาคใกล้เคียง อาทิ เกาหลีใต้ ใต้หวัน สิงคโปร์ และมาเลเซีย เป็นต้น

        ดังนั้นจึงมีความจำเป็นอย่าง ยิ่งสำหรับประเทศไทยที่จะต้องมีมาตรการในการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อสร้างความสามารถของประเทศบนฐานความรู้ที่แน่นพอ ที่จะมมีระบบภูมิคุ้มกันในตัวที่ดีเพื่อลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงทั้งภาย นอกและภายในตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง สังคมเข้มแข็ง และการแข่งขันของภาคการผลิตและบริการ อันจะนำไปสู่การพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน

        จากการเล็งเห็นถึงความสำคัญของวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมดังกล่าวข้างต้นกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจึงได้ ริเริ่มให้มีการตราพระราชบัญญัติว่าด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ พ.ศ.2551 (ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ฉบับฎีกา เล่มที่ 125 ตอนที่ 33 ก เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2551) ขึ้นเป็นกฎหมายพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อเป็นฐานสำหรับการกำหนดนโยบายและจัดทำแผนวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมระดับชาติ ให้มีความต่อเนื่อง และกำหนดกรอบการดำเนินงานของหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคประชาชนในการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมของประเทศให้เป็นไปในทิศทางที่สอดคล้องกันทั้งในด้าน การผลิตและการพัฒนากำลังคน การวิจัยและพัฒนา การถ่ายทอดเทคโนโลยี การพัมนาโครงสร้างพื้นฐาน และการสร้างความตระหนักด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม และสามารถแข่งขันกับประเทศอื่นในระดับสากลได้มากขึ้น

        ภายใต้พระราชบัญญัติดังกล่าว ได้มีการจัดตั้ง คณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (กวทน.) ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มีรัฐมนตรีกระทรวงที่เกี่ยวข้อง ประธานกรรมการบริหารสภาวิจัยแห่งชาติ และผู้ทรงคุณวุฒิทั้งภาครัฐและเอกชนเป็นกรรมการ และมีปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นเลขานุการเพื่อเป็นกลไกสำคัญที่ทำหน้าที่กำหนดนโยบายและแผนด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมของประเทศให้ชัดเจน ให้มีการจัดสรรและใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าส่งเสริมสนับสนุน ผลักดันการดำเนินงานตามนโยบายและแผน และติดตามประเมินผลการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมของประเทศอย่างจริงจังและต่อเนื่องอันจะส่งผลให้การพัฒนาวิทยาศาสตร์  เทคโนโลยีและนวัตกรรมของประเทศเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

        ต่อมา พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ได้มีคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 62/ 2559 (ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 133 ตอนพิเศษ 225 ง เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2559) ประกาศใช้อำนาจตามความในมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 ในการปฏิรูประบบวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ ให้เกิดการบูรณาการ ลดความซ้ำซ้อนและสามารถผลักดันให้มีการนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม โดยกำหนดให้มี “สภานโยบายวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ” (นวนช.) โดยมีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน และให้เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) เป็นเลขานุการร่วม และให้ยุบเลิกคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (กวทน.) และโอนอำนาจหน้าที่ไปเป็นของ “สภานโยบายวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ”