นโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
นโยบายการขับเคลื่อนวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรรม (วทน.)
ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์)

ในคราวมอบนโยบายต่อผู้บริหารกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
เมื่อวันศุกร์ที่ 1 ธันวาคม 2560
 

ภารกิจของรัฐบาลชุดนี้ คือ ต้องการปฏิรูปประเทศเพื่อเปลี่ยนผ่านประเทศไทยให้มีความพร้อมไปสู่ศตวรรษที่ 21 ซึ่งในช่วงเวลาที่ผ่านมาได้ดำเนินการสะสางปัญหา ซึ่งเริ่มคลี่คลาย เศรษฐกิจเริ่มดีขึ้น และต่อจากนี้จะเป็นช่วงเวลาที่ขับเคลื่อนประเทศไปข้างหน้า ซึ่งกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ถือเป็นกระทรวงที่มีความสำคัญในการเปลี่ยนผ่านประเทศ โดยมีตัวขับเคลื่อนที่สำคัญ 2 เรื่องหลัก คือ การพัฒนาคน และเทคโนโลยี ซึ่งรัฐบาลเองได้ให้ความสำคัญกับการดำเนินงานของกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เป็นอย่างมาก โดยจะเห็นได้จากงบประมาณที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี ดังนั้นในโอกาสที่กระผมได้รับมอบหมายให้ดูแลกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ จึงมีความตั้งใจที่จะผลักดันงานของกระทรวงให้มีความคมชัด และมีทิศทางที่ชัดเจนขึ้น ประกอบกับนายกรัฐมนตรีต้องการขับเคลื่อนโมเดลประเทศไทย 4.0 (Thailand 4.0) ซึ่งกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ จะเป็นกระทรวงหลักในการใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) ในการขับเคลื่อนโมเดลดังกล่าว

          ทิศทางการขับเคลื่อน วทน. ในอีก 1 ปีข้างหน้า เพื่อตอบโจทย์นโยบายไทยแลนด์ 4.0 ในเรื่องความมั่นคง มั่นคั่ง ยั่งยืน จะให้ความสำคัญกับ 6 เรื่อง ดังนี้

          1. เชื่อมโยง วทน. กับกลุ่มเป้าหมายอย่างใกล้ชิด เน้นการดำเนินงานที่ตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมาย (Demand side) เน้นการสร้างแรงจูงใจในเส้นทางอาชีพนักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ และนวัตกร เน้นการทำให้ วทน. เป็นเรื่องใกล้ตัวมีผลต่อการดำรงชีวิต/การดำเนินธุรกิจ เข้าถึงได้ง่าย ใช้งานได้ดี โดยคำนึงถึงความต้องการของตลาด และสุดท้ายจะต้องคำนึงถึงประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับเป็นสำคัญ

          2. ทำงานบนเครือข่ายความร่วมมือแบบเปิด (Open Collaborative Network) เนื่องจาก วทน. เป็นงานที่เกี่ยวข้องในทุกเรื่อง จึงต้องมีการบูรณาการการทำงานร่วมกับทุกภาคส่วน กระทรวงต่างๆ ประชารัฐ ภาคเอกชน ประชาสังคม รวมถึงประชาคมโลก ให้เป็น "วิทยาศาสตร์เพื่อการขับเคลื่อนประเทศ"

          3. มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ในเชิงลึกอย่างถึงที่สุด เปลี่ยนจาก Something in Everything เป็น Everything in Something โดยมีการติดตามเทคโนโลยีให้เท่าทันพลวัตอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ร่วมดำเนินการหรือถ่ายทอดเทคโนโลยีโดยเฉพาะเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับ 10 อุตสาหกรรม (S-Curve) และสุดท้ายต้องเป็นผู้นำในเรื่องที่มีความเชี่ยวชาญ เช่น เรื่อง Bio-Economy ซึ่งจะต่อยอดได้ทั้งด้านเทคโนโลยีชีวภาพ เกษตร สุขภาพ ชีวิตความเป็นอยู่ และพลังงาน เป็นต้น

          4. น้อมนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ ลดการพึ่งพิงเทคโนโลยีจากภายนอก ด้วยการสร้างและพึ่งพาตนเองทางเทคโนโลยี ไปพร้อมๆ กับการร่วมรังสรรค์เทคโนโลยีกับภายนอก ซึ่งจะต้องสร้างสมดุลใน 3 เรื่อง คือ 
                 1) การพัฒนาเทคโนโลยี (Technology Development)
                 2) การจัดซื้อเทคโนโลยี (Technology Acquisition) และ 
                 3) การถ่ายทอดเทคโนโลยี (Technology Transfer)

          5. เดินหน้าไปด้วยกันไม่ทอดทิ้งใครไว้ข้างหลัง โดยใช้ วทน. ในการลดความเหลื่อมล้ำ เสริมสร้างศักยภาพคนทุกกลุ่ม ซึ่งกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ได้มียุทธศาสตร์ในการผลักดันเทคโนโลยีเพื่อเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ครอบคลุมใน 4 กลุ่ม คือ 1) กลุ่มเศรษฐกิจฐานราก ได้แก่ เกษตรกร และ OTOP 2) กลุ่ม SMEs 3) กลุ่มผู้ประกอบการรายใหญ่ และบรรษัทข้ามชาติ และ 4) กลุ่ม Startup

          6. ผลักดันกลไกการขับเคลื่อน วทน. โดยปรับปรุงระบบการบริหารงาน ให้มีนโยบายในการดำเนินงาน (Mandate) ที่ชัดเจนไปสู่ทิศทางเดียวกัน มีการกำหนดตัวชี้วัด โดยที่แต่ละหน่วยงานมีอิสระ (Autonomy) ในการดำเนินงาน ควบคู่กับการรับผิดชอบ (Accountability) และสร้างวัฒนธรรมของการทำงานร่วมกัน (Collaboration) ทั้งภายในกระทรวง ระหว่างกระทรวง ประชารัฐ และประชาคมโลก เพื่อขับเคลื่อนประเทศไปข้างหน้าด้วย วทน. อย่างมีประสิทธิภาพ