สวทน. จัดเวทีประชุมใหญ่ครั้งแรกในประเทศไทย รวมนักวิจัยอาเซียนกว่า 300 คน ร่วมกำหนดอนาคตนวัตกรรมอาเซียน

21 กันยายน 2559  


       
        สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม ASEAN STI FORUM 2016 ระหว่างวันที่ 21 – 23 กันยายน 2559 ณ โรงแรมแชงกรี-ลา กรุงเทพฯ โดยได้รับความสนใจจากนักวิจัย ผู้กำหนดนโยบายวิทยาศาสตร์  เทคโนโลยีและนวัตกรรมในกลุ่มประเทศอาเซียนเป็นจำนวนมาก มาร่วมหารือถึงความร่วมมือในการใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมในอาเซียนโดยมีหัวข้อการประชุมที่สำคัญได้แก่ อุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจอาเซียน การส่งเสริม Startup และผู้ประกอบการในภูมิภาคอาเซียน การส่งเสริมการเคลื่อนย้ายบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) ระหว่างอาเซียน เป็นต้น ซึ่งข้อหารือจากกระประชุมจะถูกนำเสนอต่อที่ประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (ASEAN Ministerial Meeting on Science and Technology – AMMST) ในเดือนตุลาคม 2559 ณ ประเทศกัมพูชา ซึ่งถือเป็นการประชุมต้นแบบของการขับเคลื่อนการพัฒนา วทน. ของภูมิภาคอาเซียนเป็นครั้งแรกในประเทศไทย
 

        ภายในงานได้รับเกียรติจาก ดร.พิเชฐ  ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เป็นประธานในการเปิดเวทีการประชุม พร้อมด้วย
นายหุมพัน อินทะราด รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สปป. ลาว ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ เลขาธิการ สวทน. นายชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่และกรรมการบริหารธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ตัวแทนภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษา เข้าร่วมงาน ดร.พิเชฐ กล่าวถึงความสำคัญของภูมิภาคอาเซียนซึ่งมีจีดีพีเป็นอันดับ 3 ของโลก มีประชากรกว่า 600 ล้านคน โดยเป็นประชากรอายุน้อยกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ ที่สามารถต่อยอดเป็น Startup และผู้ประกอบการรุ่นใหม่ได้ในอนาคต เวทีนี้ถือเป็นโอกาสอันดีในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และประสบการณ์อันเป็นประโยชน์ต่ออาเซียนได้เป็นอย่างดี ดร.พิเชฐ ได้ประกาศในที่ประชุมว่า ประเทศไทยจะให้การสนับสนุนการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการอาเซียนด้าน วทน. ให้เป็นรูปธรรมและบรรลุเป้าหมาย รัฐบาลไทยจึงได้จัดเตรียมงบประมาณ 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนา วทน. ในภูมิภาคอาเซียน การจัดทุนการศึกษาสำหรับนักศึกษาอาเซียนที่มีความรู้ความสามารถ และการเริ่มต้นการการขับเคลื่อนการเคลื่อนย้ายนักวิจัยระหว่างภูมิภาคอาเซียน (ASEAN Talent Mobility) โดยเปิดโอกาสให้นักวิจัยอาเซียนทดลองเข้ามาปฏิบัติงานกับภาคเอกชนไทยได้ โดยผ่านศูนย์อำนวยความสะดวก Talent Mobility



        ดร.กิติพงค์  พร้อมวงค์ เลขาธิการ สวทน. กล่าวว่า ในปัจจุบันคือยุคโลกาภิวัฒน์ที่มีการเปลี่ยนแปลงในทุกๆด้านของโลก ทำให้อาเซียนต้องร่วมมือกันสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อขับเคลื่อนภูมิภาคอาเซียนในทุกมิติ เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน ลดความเหลื่อมล้ำได้อย่างยั่งยืน

        ดร.กิติพงค์ กล่าวต่อว่า สวทน. ซึ่งมีหน้าที่ในการกำหนดนโยบาย วทน. ของประเทศได้พยายามสร้างสรรค์นโยบายที่เหมาะสม และสามารถปฏิบัติได้จริง รวมถึงสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของ วทน. ให้กับประชาชนในทุกระดับ ในระยะที่ผ่านมากระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ (วท.) ได้ริเริ่มนโยบายและโครงการขนาดใหญ่เพื่อตอบโจทย์การพัฒนาแต่ละพื้นที่ของประเทศให้เป็นเขตเศรษฐกิจนวัตกรรม หรือ Economic Zone of Innovation เริ่มตั้งแต่การพัฒนาอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย โดย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ต่อมา สวทน. ร่วมกับ วท. และ สวทช. เสนอรัฐบาลขยายอุทยานวิทยาศาสตร์ไปสู่ภูมิภาค ปัจจุบันมี 3 แห่ง และในปีนี้ สวทน. ได้ริเริ่มการจัดตั้งเมืองนวัตกรรมอาหารขึ้นที่จังหวัดปทุมธานี และปลายปีนี้จะริเริ่มโครงการพัฒนา Startup District ขึ้นอีกหลายแห่ง โดยร่วมมือกับกว่า 30 มหาวิทยาลัยทั่วประเทศ ทั้งหมดนี้จะกลายเป็น New Growth Engines ที่สำคัญสำหรับประเทศไทยในระยะ 5 – 10 ปีข้างหน้า

        นายชาติศิริ โสภณพนิช กล่าวว่า ปัจจุบันโลกมีความเชื่อมโยงมากขึ้น ความเจริญได้ขยายสู่ภูมิภาค และเข้าสู่สังคมดิจิทัล ตลาดอาเซียนมีการรวมตัวกันมากขึ้น ภาคธุรกิจ การเงินการธนาคาร มีความตระหนักเรื่องการใช้นวัตกรรมในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เช่น การใช้เทคโนโลยีทางการเงิน การระดมทุนออนไลน์ เข้ามามีส่วนสำคัญอย่างมากในภูมิภาคอาเซียน โดยเฉพาะในกลุ่ม Startup อาเซียน ให้ประสบความสำเร็จได้มากขึ้น ความร่วมมือของภาครัฐ เอกชน และประชาชน หรือโครงการสานพลังประชารัฐของประเทศไทย เป็นตัวอย่างที่ดีที่อาเซียนจะนำไปปรับใช้ และจะมีบทบาทเป็นอย่างมากในอนาคต
 
ขอข้อมูลเพิ่มเติมงานประชาสัมพันธ์:
นางสาวมนต์ศิริ  ธรมธัช โทร: 0819225149 / นางสาวนิรมล เทพทวีพิทักษ์ 0 2160 5432 - 7 ต่อ 703
สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.)
Email: pr@sti.or.th / Website: www.sti.or.th/sti