ฟู้ดอินโนโพลิส นำเครือข่ายทั่วประเทศ 30 ชีวิต ถอดบทเรียนเดนมาร์ก ยกเป็นต้นแบบที่ดีที่สุดในโลก เตรียมลุยพัฒนาเมืองนวัตกรรมอาหารของไทย

13 ธันวาคม 2561  




เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ดร.อัครวิทย์ กาญจนโอภาษ ซีอีโอเมืองนวัตกรรมอาหาร หรือ ฟู้ดอินโนโพลิส นำคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยและหน่วยงานเครือข่ายเมืองนวัตกรรมอาหาร ระยะที่  2 ซึ่งเป็นส่วนขยายของฟู้ดอินโนโพลิส ประกอบไปด้วยมหาวิทยาลัย หน่วยงานภาครัฐ และเอกชนรวมทั้งสิ้น 30 คน เพื่อร่วมศึกษาดูงานหน่วยงานนวัตกรรมอาหารชั้นนำของโลกที่ประเทศเดนมาร์ก อาทิ อะโกร ฟู้ดปาร์ค มหาวิทยาลัยออร์ฮูส ฯลฯ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาเมืองนวัตกรรมอาหารของไทยต่อไป
 
ดร.อัครวิทย์ ให้เหตุผลถึงการนำเครือข่ายฯ เยือนเดนมาร์กในครั้งนี้ เนื่องจากเป็นประเทศที่มีรูปแบบการพัฒนานวัตกรรมอาหารที่ดีที่สุดในโลกประเทศหนึ่ง เริ่มจากเป็นประเทศเล็ก ๆ ที่มีประชากรเพียง 5 ล้านคนน้อยกว่าไทยเกือบ 14 เท่า แต่รายได้เฉลี่ยต่อหัวประชากรสูงกว่าไทยถึง 10 เท่าตัว และมีขีดความสามารถในการแข่งขันสูงเป็นอันดับ 13 ของโลก นอกจากนี้ เดนมาร์คยังมีวิวัฒนาการผลิตอาหารอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่การส่งออกหมูมากที่สุดในยุโรป และเปลี่ยนมาเป็นเกษตรอินทรีย์ จนไปสู่การแปรรูปอาหารและการสร้างมูลค่าเพิ่มจากผลิตภัณฑ์เกษตรต่าง ๆ ตลอดจนการผลิตพลังงานทดแทน พลังงานชีวภาพ และธุรกิจฐานชีวภาพครบวงจร
 
หน่วยงานที่ ฟู้ดอินโนโพลิส และคณะได้เข้าดูงานคือ อะโกร ฟู้ดปาร์ค ซึ่งตั้งอยู่ในเมืองออร์ฮุส มีการทำงานที่โดดเด่น ทั้งเรื่องของการบริหารจัดการที่ใช้ทีมงานเพียง 8 คนในการทำงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และมหาวิทยาลัย ในส่วนของการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานจะเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป นอกจากนี้ ยังได้เข้าเยี่ยมชม Danish Technological Institute (DTI) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ทำวิจัยและพัฒนาในระดับของการถ่ายทอดเทคโนโลยีงานวิจัยของเดนมาร์กที่มีอายุกว่า 100 ปี โดยในแต่ละปีจะวิจัยและพัฒนาให้กับเอกชนมากถึง 12,000 กว่าราย และสร้างรายรับสูงถึงปีละ 150 ล้านยูโร (หรือคิดเป็นเงินไทยประมาณ 6 พันล้านบาท) โดยที่มีนักวิจัยอยู่ประมาณ 1 พันกว่าคน และเป็นหน่วยงานวิจัยที่ไม่ได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาล และต้องเลี้ยงตัวเองโดยที่เป็นองค์กรที่ไม่ได้มุ่งหวังกำไร




จากนั้น ได้เดินทางไปยัง มหาวิทยาลัยออร์ฮุส ที่มีชื่อเสียงด้านการวิจัยด้านอาหารมาช้านาน โดยมีภาควิชาวิทยาศาสตร์การอาหาร ที่ทำงานวิจัยร่วมกับภาคเอกชนมายาวนาน มีจำนวนบุคลากรมากถึง 200 `คนกระจายอยู่ตามศูนย์วิจัยต่าง ๆ ของภาควิชา ที่น่าสนใจก็คือการวางยุทธศาสตร์การวิจัยและพัฒนานั้นจะต้องสอดคล้องกับทิศทางที่มีการกำหนดของภาคเอกชนในกลุ่มของอุตสาหกรรมอาหาร และนำมาถอดรหัสเป็นแผนงานวิจัย การจัดหาเครื่องมือและบุคลากรของภาควิชาให้สอดคล้องกับแนวทางดังกล่าว และยังได้เข้าเยี่ยมชม Danish Agriculture & Food Council (DAFC)  ซึ่งเป็นหน่วยงานเอกชนที่ไม่หวังกำไรตั้งขึ้นมาเพื่อดูแลเกษตรกรและสหกรณ์การเกษตรต่าง ๆ ซึ่งล้วนแต่เป็นกลุ่มของเกษตรกรในด้านต่าง ๆ ที่สำคัญของเดนมาร์กทั้งหมด ปัจจุบันนี้ DAFC มีสมาชิกทั้งที่เป็นเกษตรกร บริษัทผู้ผลิตและแปรรูปอาหาร และธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเกษตรทั้งหมด และทำหน้าที่ในการเป็นหน่วยงานที่ต่อรอง ผลักดันนโยบายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเกษตรและอาหารร่วมกับรัฐบาล และยังทำหน้าที่ในการสร้างตลาดการส่งออกและส่งเสริมการตลาดต่างประเทศของสินค้าเกษตรอาหาร




“การเดินทางไปครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกที่นำเครือข่ายเมืองนวัตกรรมอาหาร ไปเปิดโลกทรรศน์ด้านการพัฒนานวัตกรรมอาหารในระดับโลก เนื่องจากที่ผ่านมา หน่วยวิจัยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับอาหารทำงานกันแบบกระจัดกระจาย ต่างคนต่างทำ ทำให้ไม่เกิดการรวมศูนย์ หรือเป็นพลังที่จะขับเคลื่อนไปสู่การเป็นเมืองนวัตกรรมอาหารของอาเซียนและของโลกได้ แม้อุตสาหกรรมอาหารจะเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายของรัฐบาล แต่ไม่เคยมีธงนำว่าจะพัฒนาไปในทิศทางใด การสร้างเมืองนวัตกรรมอาหารและขยายไปยังส่วนภูมิภาค ถือเป็นการสร้างระบบนิเวศนวัตกรรมสำหรับการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศ และก้าวย่างแห่งการขับเคลื่อน การเดินทางมาครั้งนี้ ผู้แทนเครือข่ายแต่ละแห่งจะถอดบทเรียนเพื่อพัฒนาส่วนต่อขยายของตัวเอง เพื่อก้าวสู่เป็นศูนย์กลางนวัตกรรมอาหารของอาเซียน ที่เราจะใช้โอกาสที่ประเทศไทยจะเป็นประธานอาเซียนเพื่อประกาศเรื่องนี้” ซีอีโอเมืองนวัตกรรมอาหาร กล่าว

-------------------------------------------------