สวทน. – มทร.ธัญบุรี แถลงข่าวการจัดงานประชุมวิชาการระบบขนส่งทางรางของไทย ปี 61 ขนทัพกูรูระบบรางเปิดเวทีแลกเปลี่ยนประเด็นโลจิสติกส์ทางรางในอีอีซี

7 พฤศจิกายน 2561  


สวทน. – มทร.ธัญบุรี แถลงข่าวการจัดงานประชุมวิชาการระบบขนส่งทางรางของประเทศไทย ปี 61    ขนทัพกูรูระบบรางเปิดเวทีแลกเปลี่ยนประเด็นโลจิสติกส์ทางรางในอีอีซี ด้านจังหวัดชลบุรี เชื่อ ระบบรางจะช่วยลดต้นทุนการขนส่งของผู้ประกอบการในจังหวัดที่ปัจจุบันมีรถขนส่งสินค้าวิ่งกว่า 10,000 เที่ยวต่อวัน
 
(7 พฤศจิกายน 2561) อาคารจัตุรัสจามจุรี - สวทน. ร่วมกับ มทร.ธัญบุรี จัดแถลงข่าวการประชุมวิชาการระบบขนส่งทางรางของประเทศไทย ประจำปี พ.ศ.2561 (The 5th Thailand Rail Academic Symposium –TRAS 2018) ลุยพื้นที่ชลบุรี ไขประเด็นโครงสร้างพื้นฐานโลจิสติกส์ด้านขนส่งทางรางในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)




ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ เลขาธิการ สวทน. เปิดเผยว่า ปีนี้นับเป็นปีที่ 5 สำหรับการจัดงานประชุมวิชาการระบบขนส่งทางรางของประเทศไทยประจำปี 2561 หรือ TRAS2018 เพื่อเป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนความรู้ และสร้างความตระหนักให้ทุกภาคส่วนได้เห็นความสำคัญของการพัฒนาระบบขนส่งทางรางของประเทศ ทั้งในด้านที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาทางเศรษฐกิจ สังคม และความสามารถทางเทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยมีมหาวิทยาลัยราชมงคลธัญบุรี เป็นเจ้าภาพ โดยการจัดงานดังกล่าวจะจัดให้มีการนำเสนอบทความวิจัย บทความวิชาการ การปาฐกถาพิเศษจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิจากทั้งในและต่างประเทศ และการเสวนาวิชาการในประเด็นที่สำคัญต่างๆ อันจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาระบบขนส่งทางรางของประเทศ เพื่อให้ผู้เข้าร่วมได้เรียนรู้ประสบการณ์ในการพัฒนาระบบขนส่งทางราง แลกเปลี่ยนความรู้และข้อคิดเห็น รวมถึงทราบกรณีศึกษาของระบบขนส่งทางรางที่ประสบความสำเร็จ 

อีกหนึ่งบทบาทของ สวทน. คือ การส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมในสาขาที่สำคัญของประเทศ ซึ่งสาขาระบบขนส่งทางรางถือเป็นสาขาหนึ่งที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเตรียมความรู้และกำลังคนเพื่อรองรับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านระบบขนส่งทางรางของปะเทศ โดยอาศัยกลไกการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากต่างประเทศ ร่วมกับการพัฒนากำลังคนและการบ่มเพาะความรู้ภายในประเทศอย่างเหมาะสม ซึ่งการดำเนินงานควรจะต้องยกระดับไปสู่ความร่วมมือในรูปแบบของเครือข่ายที่เรียกว่า Thailand Rail Academy หรือ “ทีอาร์เอ” ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มและเวทีความร่วมมือเพื่อสนับสนุนและส่งเสริมการมีส่วนร่วมของหน่วยงานทั้งจากภาครัฐ ภาคอุตสาหกรรมและผู้ประกอบการเดินรถ ภาคการศึกษาและสถาบันวิจัย ในดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกัน ทั้งการพัฒนาบุคลากรและองค์ความรู้ที่สำคัญ การพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านระบบขนส่งทางราง ตลอดจนการจัดประชุมวิชาการระบบขนส่งทางรางของประเทศไทย เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนองค์คาวมรู้ด้วย
 

ดร.กิติพงค์ กล่าวระหว่างการแถลงข่าวว่า การพัฒนาระบบขนส่งทางราง สำคัญมากสำหรับประเทศไทย ซึ่ง สวทน. ได้ทำนโยบายส่งเสริมการพัฒนาดังกล่าวมา 5 - 6 ปีแล้ว โดยเฉพาะเรื่องสำคัญที่จะทำให้ระบบขนส่งทางรางก้าวไปข้างหน้าได้ คือการพัฒนาบุคลากรด้านระบบราง โดย สวทน. มองไกลมากกว่าการสร้างรถไฟ แต่มองไปถึงการผลิตชิ้นส่วนรถไฟ และการพัฒนาเทคโนโลยีระบบรางได้ด้วยตัวเอง และเห็นว่าขณะที่มีการส่งเสริมการลงทุนระบบราง ต้องมีการศึกษาและสร้างเทคโนโลยีสำหรับระบบรางควบคู่ไปด้วย ทั้งนี้ การจัดการประชุม TRAS2018 ในพื้นที่อีอีซี ที่จังหวัดชลบุรีในช่วงสิ้นเดือนนี้ สวทน. และเครือข่ายหวังที่จะเข้าไปสนับสนุนพื้นที่ เพื่อให้เกิดการพัฒนาระบบรางได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้มีความร่วมมือกับประเทศจีน ในด้านเทคโนโลยีหลายด้าน รวมถึงเรื่องระบบรางก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่อยู่ในความร่วมมือ โดยทุก ๆ ปี ประเทศจีนจะให้ไทยส่งบุคลากรไปเรียนรู้เทคโนโลยีระบบรางที่จีนได้ประมาณ 10 คนต่อปี ซึ่งก็เป็นอีกช่องทางหนึ่งในการศึกษาเรียนรู้เทคโนโลยีจากต่างประเทศ


ด้านนายกนิษฐ์ เจียมรุจีกุล  ผู้อำนวยการสำนักงานขนส่งจังหวัดชลบุรี เปิดเผยว่า จังหวัดชลบุรี พร้อมสนับสนุนในการให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อนักวิจัย และนักวิชาการ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาระบบรางในเขตพื้นที่อีอีซี ทั้งนี้ ในปัจจุบัน ชลบุรี มีรถขนส่งสินค้าวิ่งประมาณ 10,000 เที่ยวต่อวัน หากผลักดันการขนส่งสู่ระบบรางได้ จะช่วยลดต้นทุนการขนส่งได้อย่างเป็นรูปธรรม
 
ทั้งนี้ งานประชุมวิชาการระบบขนส่งทางรางของประเทศไทยประจำปี 2561 จะจัดขึ้นภายใต้แนวคิด “Rail Logistics  for  Eastern Economic Corridor (EEC): Technology & Innovation” ระหว่างวันที่ 29 – 30 พฤศจิกายน 2561 ณ ศูนย์ประชุมบางแสนเฮอริเทจ ตำบลแสนสุข อำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่ที่อยู่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ “อีอีซี” ซึ่งมีแผนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมและโลจิสติกส์ขนาดใหญ่เพื่อสร้างโครงข่ายการคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์ที่สมบูรณ์ เชื่อมโยงการเดินทางทั้งทางอากาศ ทางบก ทางราง ทางน้ำ แบบไร้รอยต่อ (Seamless Operation) และเชื่อมโยงการขนส่งสินค้าของประเทศไทยกับภูมิภาค อาทิ โครงการรถไฟความเร็วสูง (High Speed Train) เชื่อม 3 สนามบิน แบบไร้รอยต่อ (สนามบินดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) และโครงการรถไฟทางคู่เชื่อม 3 ท่าเรือ ได้แก่ ท่าเรือแหลมฉบัง ท่าเรือสัตหีบ และท่าเรือมาบตาพุด เป็นต้น โดยภายในงาน TRAS2018 ได้จัดให้มีการบรรยายพิเศษในประเด็น “โครงสร้างพื้นฐานโลจิสติกส์ด้านขนส่งทางรางในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก” “การพัฒนาเมืองและระบบขนส่งมวลชนในพื้นที่ EEC” ตลอดจนการเสวนาในหัวข้อ "ความท้าทายในการจัดการโลจิสติกส์ด้านขนส่งสินค้าทางรางในพื้นที่ EEC" และ "การเข้าถึงเขตพื้นที่เศรษฐกิจและอุตสาหกรรมด้วยระบบขนส่งทางรางในพื้นที่ EEC" เป็นต้น ผู้สนใจสามารถสำรองที่นั่ง หรือดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ : https://www.engineer.rmutt.ac.th/tras2018/