สวทน. เดินเกมส์รุก เยี่ยมชมเทคโนโลยีและการบริหารจัดการ สมาร์ท ฟาร์มมิ่ง บริษัท ซันสวีท จำกัด (มหาชน) หวังสร้างนโยบายด้าน วทน. ที่เข้าถึงผู้ใช้ประโยชน์ได้จริง

5 กันยายน 2561  


(4 กันยายน 2561) ดร.กาญจนา วานิชกร และ ดร.สุรชัย สถิตคุณารัตน์ ผู้ช่วยเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) เยี่ยมชมเทคโนโลยีและการบริหารจัดการ สมาร์ท ฟาร์มมิ่ง ของบริษัท ซันสวีท จำกัด (มหาชน) ผู้นำธุรกิจข้าวโพดหวานครบวงจร ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยและมีความเป็นสากล โดยมี ดร.องอาจ กิตติคุณชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซันสวีท จำกัด (มหาชน) พร้อมคณะผู้บริหารให้การต้อนรับ นำเยี่ยมชมบริษัท และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเรื่องความต้องการเทคโนโลยีในภาคการเกษตร




บริษัท ซันสวีท จำกัด (มหาชน) ถือเป็นบริษัทชั้นนำในอุตสาหกรรมการเกษตรที่นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ในการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ โดยมีความร่วมมือกับทั้งภาคมหาวิทยาลัย ภาคเอกชน และภาคการเกษตร เพื่อเป็นศูนย์กลางการวิจัยข้าวโพดหวานในมิติต่างๆ อาทิ ประโยชน์ต่อสุขภาพ โดยจัดทำข้อมูลพื้นฐานของข้าวโพดหวานและเทคโนโลยีสำหรับกระบวนการผลิตและการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ที่มาจากข้าวโพดหวาน การศึกษาลักษณะทางประสาทสัมผัสของผู้บริโภคข้าวโพดหวานเพื่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ซึ่งผลิตภัณฑ์ของบริษัทได้รับความไว้วางใจว่าเป็นผลิตภัณฑ์อาหารที่มีคุณภาพ มีความปลอดภัยสูง สอดคล้องกับความต้องการและกฎหมายของประเทศคู่ค้า และยังมุ่งมั่นพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์ การบริการอย่างต่อเนื่องด้วยกระบวนการผลิต การจัดการที่ยืดหยุ่นรวดเร็ว ทั้งนี้ บริษัท ซันสวีท จำกัด (มหาชน) ยังถือเป็น 1 ใน 5 ผู้นำบริษัทผู้ผลิตข้าวโพดหวานของประเทศ ที่ส่งออกผลิตภัณฑ์ไปยังต่างประเทศถึง 80% ของกำลังการผลิตทั้งหมด


การเยี่ยมชม บริษัท ซันสวีท จำกัด (มหาชน) ของ สวทน. ในครั้งนี้ เป็นการทำงานเชิงรุก เพื่อเข้าไปเรียนรู้การทำ Smart Farming ตลอดจน Business Model ของบริษัทชั้นนำ ที่ประสบความสำเร็จในการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ในอุตสาหกรรมเกษตร โดย สวทน. ในฐานะผู้จัดทำนโยบายด้าน วทน. ของประเทศ มีความพยายามศึกษาความเป็นไปได้ในด้านต่างๆ ที่ส่งผลกระทบต่อการขับเคลื่อนประเทศโดยใช้ วทน. โดยให้ความสำคัญต่อผู้ใช้ประโยชน์จากนโยบายเป็นสำคัญ การได้มาเรียนรู้และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholder) กับนโยบายโดยตรง จะทำให้สามารถออกแบบนโยบายสนับสนุนในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสอดคล้องกับความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย โดยภาคการเกษตร ถือเป็นอีกภาคส่วนหลักของประเทศที่มีศักยภาพ การนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาช่วยในการบริหารจัดการ จะเป็นอีกทางหนึ่งที่ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการทำการเกษตรของประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ




ดร.องอาจ กิตติคุณชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซันสวีท จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า Smart Farming ของบริษัท มีการทำงานร่วมกับหลายภาคส่วน ทั้งภาคมหาวิทยาลัย อย่างมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ที่ร่วมกันพัฒนาเซนเซอร์ (Sensor) วัดความชื้นในดิน และระบบ IoT Remote Monitoring ปล่อยน้ำเข้าแปลงแบบอัตโนมัติ ร่วมกับภาคเอกชน อย่างบริษัท ล็อกซเล่ย์ ในการนำระบบ Remote Monitoring สถานีตรวจวัดอากาศจากต่างประเทศ ที่สามารถวัดอุณหภูมิ ความเร็วลม และตรวจจับแมลง มาทดลองใช้ เพื่อเก็บข้อมูลทำ Big Data สำหรับการคาดการณ์ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งได้ร่วมกับ บริษัท สกาย วีไอวี จำกัด ในการนำโดรนเข้ามาสำรวจสภาพพื้นที่ ผ่านภาพถ่ายความละเอียดสูง เพื่อนำมาวิเคราะห์สุขภาพพืช ตลอดจนมีความร่วมมือกับเกษตรกรในพื้นที่ในการแลกเปลี่ยนข้อมูล ปัญหาของการปลูกพืช เพื่อนำมาสู่การแก้ไขปัญหาร่วมกัน โดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเป็นเครื่องมือ โดยมีแนวคิดการทำงานแบบ Win – Win เกษตรกรอยู่ได้ บริษัทก็อยู่ได้





ดร.องอาจ ยังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า สำหรับในภาคเหนือตอนบน เกษตรกรเริ่มรู้จัก Smart Farming มากขึ้น เพราะได้เห็นผลลัพธ์ที่เกิดจากการใช้เทคโนโลยีมาบริหารจัดการผลผลิตทางการเกษตร ผ่านการที่ทางบริษัทได้จัดบุคลากรลงพื้นที่ไปให้ความรู้ สร้างความเข้าใจ รวมถึงเข้าไปช่วยแก้ปัญหาด้านผลผลิตให้กับเกษตรกรโดยตรง และได้นำเทคโนโลยีไปให้เกษตรกรได้ใช้จริง อาทิ โดรนพ่นปุ๋ย เป็นต้น แต่ก็ต้องยอมรับว่ายังไม่แพร่หลายมากนัก ทั้งๆ ที่การทำสมาร์ท ฟาร์มมิ่ง ถือเป็นตัวช่วยสำคัญที่ช่วยให้เกษตรกรสามารถควบคุมคุณภาพของผลผลิตได้ตรงตามความต้องการของโรงงาน แต่การใช้เทคโนโลยีมาเป็นเครื่องมือช่วยควบคุมคุณภาพผลผลิตนั้น เกษตรกรยังมีข้อจำกัดด้านกำลังในการลงทุนซื้อเทคโนโลยี และความรู้ในการใช้เทคโนโลยี จึงต้องอาศัยการสนับสนุนจากภาครัฐในการสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้ออำนวยต่อภาคการเกษตร เช่น เรื่องน้ำ หรือระบบการขนส่ง ให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงได้ ตลอดจนสร้างแพลทฟอร์มทางเทคโนโลยีด้านการเกษตรให้กับเกษตรกรสามารถจับต้องได้ด้วย ส่วนในแง่ของผู้ประกอบการเองอยากให้ภาครัฐเข้ามาสนับสนุนผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี เพื่อมาทำงานร่วมกับบริษัทในการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมเฉพาะแต่ละด้านร่วมกันกับบริษัท