สัมมนาเชิงปฏิบัติการ “การเสริมสร้างศักยภาพผู้บริหารมหาวิทยาลัย เพื่อมุ่งสู่มหาวิทยาลัยแห่งการประกอบการ (Entrepreneurial University Executive Training)”

10 กรกฎาคม 2561  


(10 กรกฎาคม 2561) ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) เป็นประธานเปิดการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “การเสริมสร้างศักยภาพผู้บริหารมหาวิทยาลัย เพื่อมุ่งสู่มหาวิทยาลัยแห่งการประกอบการ  (Entrepreneurial University Executive Training)” ณ Siam@Siam Design Hotel Bangkok โดยมี ผศ.ดร.พาสิทธิ์ หล่อธีรพงศ์ ที่ปรึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รศ.ดร.เสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ดร.กิตติพัฒน์ สุวรรณชิน อธิการบดีมหาวิทยาลัยฟาร์อีสเทอร์น นายประพันธ์ เจริญประวัติ ผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ ตลอดจนผู้บริหารมหาวิทยาลัย หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ร่วมเป็นเกียรติในงาน
 
การสัมมนาเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “การเสริมสร้างศักยภาพผู้บริหารมหาวิทยาลัยเพื่อมุ่งสู่มหาวิทยาลัยแห่งการประกอบการ (Entrepreneurial University Executive Training)” เป็นความร่วมมือระหว่าง กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดย สวทน. ร่วมกับ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และ Massachusetts Institute of Technology (MIT) ซึ่งสืบเนื่องจากที่รัฐบาลได้กำหนดให้การส่งเสริมการพัฒนา Startup เป็นนักรบเศรษฐกิจใหม่ (New Economic Warrior) เป็นวาระแห่งชาติ (National Agenda) โดยมหาวิทยาลัยมีบทบาทสำคัญในการสร้างและพัฒนาผู้ประกอบการ Startup ที่ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเป็นฐานสำคัญในการดำเนินธุรกิจ เนื่องจากมหาวิทยาลัยเป็นแหล่งรวมทรัพยากรที่สำคัญในการพัฒนาผู้ประกอบการ อันประกอบด้วย นักศึกษา อาจารย์ นักวิจัย เทคโนโลยี และโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ


สวทน. ในฐานะที่ได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบงานด้านการส่งเสริมมหาวิทยาลัยแห่งการประกอบการ (Entrepreneurial University) และการสนับสนุนผู้ประกอบการ Startup จึงได้ดำเนินโครงการส่งเสริมบทบาทของมหาวิทยาลัยในการพัฒนาผู้ประกอบการ Startup ทั้งในด้านการส่งเสริมการจัดการเรียนการสอนด้านการเป็นผู้ประกอบการ (Entrepreneurship Education) การพัฒนาแนวทางการจัดการเรียนการสอนและกิจกรรมเสริมหลักสูตรด้านความเป็นผู้ประกอบการ ตลอดจนการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยกับบริษัทเอกชน (Business Brotherhood) ในการบ่มเพาะและเร่งการเติบโตของผู้ประกอบการ Startup ในมหาวิทยาลัย
 
โดยในการส่งเสริมการเรียนการสอนด้านความเป็นผู้ประกอบการนั้น สิ่งสำคัญคือ การพัฒนารายวิชาด้านความเป็นผู้ประกอบการ ตลอดจนการพัฒนาศักยภาพอาจารย์และบุคลากรมหาวิทยาลัย หรือการ Train the Trainer ทั้งนี้ สวทน. ได้ดำเนินการพัฒนารายวิชาด้านความเป็นผู้ประกอบการ เพื่อใช้เป็นต้นแบบในการจัดการเรียนการสอนด้านความเป็นผู้ประกอบการให้แก่มหาวิทยาลัยทั่วประเทศ สามารถนำไปใช้ในการจัดการเรียนการสอนให้นิสิต นักศึกษา โดย สวทน. วางเป้าหมายในระยะยาว ให้เกิดการนำองค์ความรู้ด้านความเป็นผู้ประกอบการ ไปเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาการหลักสูตรของมหาวิทยาลัย และเตรียมความพร้อมให้มีการสร้างบัณฑิตที่ตอบสนองต่อความต้องการของตลาดแรงงานที่เปลี่ยนแปลงไป เพื่อให้ประเทศไทยสามารถขับเคลื่อนสู่การเป็นสังคมแห่งผู้ประกอบการ ที่คนรุ่นใหม่สามารถใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ในการสร้างมูลค่าเพิ่มและโอกาสใหม่ๆ ให้กับประเทศ

ปัจจุบัน สวทน. และเครือข่ายมหาวิทยาลัยและองค์กรเอกชน ได้ร่วมกันพัฒนารายวิชาด้านความเป็นผู้ประกอบการ รวมทั้งสิ้นจำนวน 9 รายวิชา ได้แก่ รายวิชาความเป็นผู้ประกอบการและนวัตกรรม (Entrepreneurship & Innovation), รายวิชาการคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking), รายวิชาการออกแบบการบริการสำหรับธุรกิจ (Service Design for Business), รายวิชาการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ (Product Design & Development), รายวิชาการตลาดผู้ประกอบการ (Entrepreneurial Marketing), รายวิชากลยุทธ์ในการบริหารทรัพย์สินทางปัญญา (Intellectual Property Strategy), รายวิชาผู้ประกอบการทางสังคม (Social Entrepreneurship), รายวิชาความเป็นผู้ประกอบการขององค์การ (Corporate Entrepreneurship) และรายวิชาการเงินสำหรับผู้ประกอบการ (Entrepreneurial Finance)
 
ทั้งนี้ นอกเหนือจากการพัฒนารายวิชาดังกล่าวแล้ว ยังมีการพัฒนาศักยภาพอาจารย์จำนวนกว่า 1,100 คน เพื่อให้สามารถนำองค์ความรู้ดังกล่าวไปถ่ายทอด และเกิดเครือข่ายอาจารย์ด้านความเป็นผู้ประกอบการการ ซึ่งรวมถึงการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ เรื่อง การเสริมสร้างศักยภาพผู้บริหารมหาวิทยาลัยเพื่อมุ่งสู่มหาวิทยาลัยแห่งการประกอบการ (Entrepreneurial University Executive Training) ที่จัดขึ้นในวันนี้ด้วย


อย่างไรก็ตาม การสัมมนาเชิงปฏิบัติการในวันนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างระบบนิเวศน์แห่งความเป็นผู้ประกอบการทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัย (IDE Ecosystem Development) โดยโครงการจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 10 - 13 กรกฎาคม 2561 ณ สยามแอทสยาม ดีไซน์ โฮเทล กรุงเทพ ซึ่งได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญระดับโลก อย่าง Mr.Andrew Ive กรรมการผู้จัดการ Food-X โปรแกรมเร่งรัดนวัตกรรมด้านอาหารอันดับ 1 ของโลก Professor Michael A. Cusumano ศาตราจารย์ด้านการบริหารจัดการที่ Sloan School of Management, Massachusetts Institute of Technology และ Dr.Edward Rubesch ผู้อำนวยการโปรแกรมศูนย์สร้างผู้ประกอบการที่ขับเคลื่อนโดยนวัตกรรม (IDE Center) มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย มาร่วมถ่ายทอดความรู้ ซึ่งถือเป็นโอกาสอันดีของประเทศไทย ที่จะได้เรียนรู้จากผู้เชี่ยวชาญระดับโลก อีกทั้งเป็นโอกาสที่จะนำไปสู่การถอดบทเรียนที่สำคัญในการพัฒนาการเรียนการสอนด้านความเป็นผู้ประกอบการ การพัฒนาระบบนิเวศของมหาวิทยาลัยแห่งการประกอบการเพื่อให้เกิดมหาวิทยาลัยแห่งการประกอบการ ในระยะเวลาอันใกล้อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อเป็นฐานสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศต่อไป
 
……………………………………………………
 
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม
สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) 
โทรศัพท์ 0 2160 5432 ต่อ 730 (วรรณพร) 081-7536119 (แพรประพันธ์) 
Email: pr@sti.or.th / Website: www.sti.or.th/sti / Facebook: https://www.facebook.com/STI สวทน.