กระทรวงวิทย์ฯ นำทัพปลดล็อค โครงสร้างพื้นฐานทางคุณภาพของประเทศ หวังเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของสินค้าและบริการไทย

3 มีนาคม 2561  


(3 มีนาคม 2561) ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นประธานการประชุมหารือ Thailand 4.0 R&I Forum ครั้งที่ 2/2561 เรื่องการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางคุณภาพของประเทศ ณ ห้องซาลอนเอ ชั้น 2 โรงแรมสวิสโซเทล เลอ คองคอร์ด กรุงเทพฯ บูรณาการความร่วมมือ กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ และกระทรวงอุตสาหกรรม พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางคุณภาพของประเทศ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของสินค้าและบริการไทย
 
ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เปิดเผยว่า โครงสร้างพื้นฐานทางคุณภาพ (National Quality Infrastructure: NQI) เป็นเรื่องที่มีความสำคัญและเป็นรากฐานในการพัฒนาประเทศ ซึ่งกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ จะเป็นหน่วยงานที่สำคัญในการที่จะขับเคลื่อนเรื่องดังกล่าว นอกจากนั้น กระทรวงวิทย์ฯ ยังมีการวางแผนพัฒนาศักยภาพของ NQI ที่จะตอบโจทย์ของประเทศ ทั้งในด้านมาตรฐานสินค้าเกษตร เพื่อให้เกิดการพัฒนาคุณภาพและสร้างมาตรฐานที่เป็นธรรมต่อเกษตรกรและผู้บริโภค และในด้านระบบราง ซึ่งจะเป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญและมีศักยภาพในอนาคต และในที่สุดกระทรวงวิทย์ฯ จะต้องมียุทธศาสตร์ในการสร้างอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับ NQI เพื่อให้เกิดการสร้างอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่น อุตสาหกรรมการผลิตเซนเซอร์เพื่อใช้วัดค่าต่างๆ ให้ได้มาตรฐาน เป็นต้น


“เพื่อเป็นการสนับสนุนนโยบายประเทศไทย 4.0 ของรัฐบาล กระทรวงวิทย์ฯ ในฐานะที่กำกับดูแลหน่วยงานที่เป็นองค์ประกอบของ NQI และมีภารกิจขับเคลื่อนการใช้ประโยชน์จากความสามารถของวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมทั้งในทางเศรษฐกิจและสังคม จึงเห็นว่าการพัฒนา NQI อย่างเป็นระบบและบูรณาการจะช่วยสนับสนุนและตอบสนองความจำเป็นที่จะต้องมีความสามารถผลิตสินค้าและบริการที่ได้มาตรฐานข้างต้น การประชุมหารือ เรื่องการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางคุณภาพของประเทศครั้งนี้ จึงเป็นอีกวาระเร่งด่วน โดยได้สั่งการให้คณะทำงานสมุดปกขาว (White paper) ซึ่งมีองค์ประกอบของคณะทำงานจาก สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ (มว.) สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงอุตสาหกรรม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในกระทรวงต่างๆ โดยมีสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) สนับสนุนการประสานงานและร่วมจัดทำรายงานสมุดปกขาวเรื่องการจัดตั้งโครงสร้างพื้นฐานทางคุณภาพของประเทศ เพื่อศึกษาสถานภาพของโครงสร้างพื้นฐานทางคุณภาพของประเทศในปัจจุบัน และข้อเสนอแนะในการพัฒนา NQI ของประเทศ รวมถึงได้จัด Open forum ครั้งนี้ขึ้นเพื่อนำเสนอข้อเสนอแนะเบื้องต้นจากการทำรายงานสมุดปกขาว ต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งภาครัฐและเอกชน กว่า 150 ราย และจะรวบรวมความคิดเห็นจากที่ประชุมมาปรับปรุงข้อเสนอแนะและเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีต่อไป” ดร.สุวิทย์ กล่าว


ด้าน ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ เลขาธิการ สวทน. เปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญกับบัญชีนวัตกรรมไทย และบัญชีสิ่งประดิษฐ์ไทย ที่ต้องได้มาตรฐานและมีการรับรองมาตรฐานสินค้าหรือบริการเพื่อนำมาใช้ประโยชน์ โดยจุดอ่อนของมาตรฐานไทยในปัจจุบัน คือ ยังขาดการนำระบบมาตรฐานมาใช้อย่างแพร่หลาย ขาดการวางโครงสร้างมาตรฐานระดับประเทศอย่างเป็นระบบ รวมถึงขาดองค์ประกอบที่สำคัญของโครงสร้างมาตรฐาน เช่น ศูนย์ข้อมูลการมาตรฐาน หน่วยพัฒนาองค์กรกำหนดมาตรฐาน (Standards Development Organization: SDO) และระบบที่ปรึกษา (Consult) เป็นต้น การที่ประเทศไทยจะยกระดับสู่ประเทศไทย 4.0 ได้นั้น ภาคอุตสาหกรรมเศรษฐกิจเป้าหมายของไทยจำเป็นต้องมีมาตรฐานทั้งด้านผลิตภาพและนวัตกรรม (Standard Productivity & Innovation) ในระดับสากล และจำเป็นต้องเร่งยกระดับระบบมาตรฐานของประเทศให้เข้มแข็งอย่างมีทิศทาง จึงจะสามารถยกระดับรายได้ให้กับประเทศได้อย่างยั่งยืน
 

“โครงสร้างพื้นฐานทางคุณภาพของประเทศ หรือ NQI มีความสำคัญมาก โดย 80% ของการค้าโลกได้รับผลกระทบจากมาตรฐานและกฎระเบียบ และ 2-10% ของต้นทุนการผลิตทั้งหมดเป็นค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับกฎระเบียบด้านเทคนิค การรับรองมาตรฐานและการทดสอบมาตรฐาน อีกทั้ง NQI ยังมีส่วนทำให้ จีดีพี ของแต่ละประเทศเติบโต อาทิ NQI ส่งผลให้ จีดีพี ประเทศฝรั่งเศสเติบโต 0.89% และส่งผลให้ จีดีพี ประเทศเยอรมนีเติบโตถึง 1% เป็นต้น โดยที่ผ่านมาประเทศไทยมีการก่อตั้งองค์กร NQI อยู่แล้ว แต่ยังมีจุดอ่อนในด้านการขาดความเป็นเอกภาพในทางนโยบาย (Fragmentation) ขาดกระบวนการ เวทีหารือและประสานนโยบายให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน รวมถึงบางหน่วยงานทำหน้าที่เป็นทั้งหน่วยงานให้การรับรองระบบงานและหน่วยงานรับรองผลิตภัณฑ์ซึ่งทำให้เกิดประเด็นผลประโยชน์ทับซ้อน (Conflict of interest) ในมุมมองสากล อีกทั้งหน่วยงานภายใต้ NQI บางส่วนมีภารกิจที่ทับซ้อน คาบเกี่ยวกัน เนื่องจากความคลุมเครือของกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ทำให้ผู้ใช้บริการและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเกิดความสับสน รวมถึงการกำหนดมาตรฐานมีความล่าช้า ไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี โดยเฉพาะในยุคเศรษฐกิจขับเคลื่อนและแข่งขันด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม และยังมีจุดอ่อนในด้านที่ผู้ใช้บริการระบบ NQI ไม่สามารถสืบค้นและเข้าถึงบริการ NQI ได้ ดังนั้น การจัดบทบาท และประสานทิศทางการดำเนินงานให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ในการพัฒนาอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจของประเทศจึงเป็นสิ่งที่มีความจำเป็นเร่งด่วน ผ่านการจัดทำนโยบายและยุทธศาสตร์ NQI  จัดทำแผนพัฒนาความสามารถของบริการโครงสร้างพื้นฐานทางคุณภาพของประเทศให้สอดรับกับยุทธศาสตร์ชาติ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ หรืออุตสาหกรรมเป้าหมาย มีการกำหนดองค์กรหลักด้าน NQI ให้ครอบคลุมทุกมิติ รวมถึงหน่วยงานรัฐควรเน้นพัฒนาความสามารถและบริการระดับสูงที่มีความจำเป็นต่อการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่และนวัตกรรมให้ทันต่อความต้องการของผู้พัฒนาเทคโนโลยีหรือนวัตกร ตลอดจนมีการจัดทำแผนพัฒนาบุคลากรด้าน NQI ระยะกลางและระยะยาว พร้อมทั้งเร่งจัดทำหลักสูตรเพื่อปรับหรือเปลี่ยนทักษะของวิศวกร หรือแรงงาน เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงกระบวนการผลิตอันเนื่องมาจากอุตสาหกรรม 4.0 และดิจิทัลไลเซชั่น” ดร.กิติพงค์ กล่าว
 
ดร.กิติพงค์ ยังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า จากการบูรณาการความร่วมมือระหว่าง มว. สมอ. และ สวทน. จึงได้จัดทำข้อเสนอในการจัดตั้ง ปฏิรูป ปรับปรุง และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางคุณภาพของประเทศไทยขึ้น ซึ่งครอบคลุมทั้งด้านกฎหมาย คณะกรรมการระดับชาติ การบริการ และการใช้ประโยชน์ อาทิ การแก้ พ.ร.บ. การมาตรฐานให้เป็นกฎหมายหลักที่กำหนดกรอบ เป้าหมายวัตถุประสงค์และโครงสร้างของ NQI และตั้งคณะกรรมการนโยบาย NQI ระดับชาติ การขจัดความซ้ำซ้อนของการให้บริการ รวมถึงพัฒนาและส่งเสริมการนำมาตรฐานและกระบวนการ NQI ไปใช้ในด้านต่างๆ เช่น การกำหนดกฎระเบียบการบังคับใช้กฎหมายการคุ้มครองผู้บริโภค เป็นต้น ซึ่งข้อเสนอที่ร่วมกันจัดทำขึ้นพร้อมข้อเสนอเพิ่มเติมการการประชุมครั้งนี้ จะเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณา และคาดว่าจะเห็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางคุณภาพของประเทศอย่างเป็นรูปธรรมภายในปี 2561