200 เอสเอ็มอี ไทย-ญี่ปุ่น เจรจาร่วมทุนธุรกิจอาหาร “สุวิทย์” คุยไทยพร้อมเป็นศูนย์กลางนวัตกรรมอาหารโลก

26 กุมภาพันธ์ 2561  

 

โรงแรมเวสท์ติน กรุงเทพ – สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) โดยเมืองนวัตกรรมอาหาร หรือ ฟู้ดอินโนโพลิส ร่วมกับศูนย์ส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งมหานครโตเกียว สำนักงานประเทศไทย หรือ โตเกียวเอสเอ็มอี จัดงาน Business Networking Dinner ในโอกาสครบรอบ 2 ปี การเปิดสำนักงานในประเทศไทย เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการอาหาร และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องจากประเทศญี่ปุ่น และประเทศไทย กว่า 200 ราย ได้พบปะหารือ และสร้างเครือข่ายทางธุรกิจ เพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอาหารของทั้งสองประเทศร่วมกัน  

 

ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวปาฐกถาในงานตอนหนึ่งว่า ตลอดระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมาของการเปิดสาขาของโตเกียวเอสเอ็มอี ในประเทศไทย ได้มีการประสานงานระหว่างเจ้าหน้าที่ของทั้งฝ่ายญี่ปุ่นและฝ่ายไทยอย่างใกล้ชิด เพื่อจัดกิจกรรมต่าง ๆ อย่างต่อเนื่องเพื่อเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างผู้ประกอบการญี่ปุ่นและไทย อีกทั้งยังเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุนญี่ปุ่นและสร้างโอกาสธุรกิจให้กับผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะในห่วงโซ่คุณค่าของอุตสาหกรรมอาหาร ที่ถือเป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญของประเทศ โดยมีสัดส่วนประมาณ 15% ของ GDP ประเทศ

ดร.สุวิทย์ กล่าวว่า การสร้างความเข้มแข็งให้อุตสาหกรรมอาหารของภายใต้โมเดลประเทศไทย 4.0 นี้ จำเป็นต้องนำวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรม เข้ามาใช้ตลอดห่วงโซ่คุณค่าเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการ และใช้ความได้เปรียบของประเทศในด้านปริมาณและความหลากหลายของวัตถุดิบ สร้างสรรค์นวัตกรรมอาหารที่เป็นที่ต้องการของตลาดโลก ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ กล่าวคือตั้งแต่การปรับปรุงสายพันธุ์คุณภาพ การพัฒนาคุณภาพวัตถุดิบทางการเกษตร การใช้ข้อมูลภูมิสารสนเทศจัดการพื้นที่การเพาะปลูกและการผลิตวัตถุดิบ การใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ ในการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ และเทคโนโลยีทันสมัยที่ใช้การขนส่ง นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญกับการวิเคราะห์ทดสอบและการตรวจสอบมาตรฐานผลิตภัณฑ์ให้ได้ตามมาตรฐานสากล ไปจนถึงการต่อยอดให้บริษัทสามารถสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์นวัตกรรมอาหารที่หลากหลายและมีมูลค่าเพิ่มสูงออกสู่ตลาด เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค 
 


 

ดร.สุวิทย์ กล่าวว่าปัจจุบัน เมืองนวัตกรรมอาหารมีบริษัทในอุตสาหกรรมอาหาร และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องอยู่ในพื้นที่แล้ว 33 ราย โดยมีบริษัทญี่ปุ่น อาทิ ยามาโมริ ไทยโอสุกะ และซันตอรี่ อยู่ในพื้นที่ นอกจากนี้ยังมีแผนการขยายพื้นที่ไปยังหน่วยงานที่มีศักยภาพทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค โดยร่วมดำเนินการกับมหาวิทยาลัยและอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาคในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ โดยแต่ละแห่งจะมีจุดเน้นที่ต่างกันตามความเข้มแข็งของหน่วยงานที่ร่วมดำเนินการ นอกจากนี้ยังจะเชื่อมโยงการวิจัยด้านอาหารกับการพัฒนาพื้นที่ EECi อีกด้วย และด้วยศักยภาพและความพร้อมต่าง ๆ นั้น เป้าหมายของการไปสู่การเป็นศูนย์กลางนวัตกรรมอาหารโลกจึงไม่ใช่เรื่องยาก 
 


 

นายโยชิ ยูกิ ประธานโตเกียวเอสเอ็มอี สำนักงานใหญ่โตเกียว กล่าวว่า บริษัทญี่ปุ่นจากโตเกียวที่มาลงทุนในประเทศไทยมีจำนวนกว่า 1,400 บริษัท นับว่าประเทศไทยเป็นพาร์ทเนอร์ทางธุรกิจที่สำคัญของประเทศญี่ปุ่น

ด้านคุณยูโกะ ฮกคิริกาว่า ผู้จัดการทั่วไปโตเกียวเอสเอ็มอี กล่าวถึงการส่งเสริมธุรกิจในอุตสาหกรรมอาหารในประเทศไทยว่า ขณะนี้โตเกียวเอสเอ็มอี จัดให้มีเจ้าหน้าที่ประสานงานฝ่ายการเจรจาธุรกิจด้านอาหารโดยเฉพาะ รวมถึงการรวบรวมข้อมูลความต้องการจากผู้ประกอบการในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารและนำส่งต่อข้อมูลสู่สำนักงานใหญ่ที่ประเทศญี่ปุ่นเพื่อจัดหาผู้ประกอบการที่เหมาะสมเพื่อร่วมทุนกันต่อไป