เสวนาเชิงปฏิบัติการระดับประเทศ หัวข้อ "Responsible Conduct of Research in Thailand"

13 พฤศจิกายน 2560  


สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) ร่วมกับ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) จัดงานเสวนาเชิงปฏิบัติการระดับประเทศหัวข้อ Responsible Conduct of Research in Thailand ในวันจันทร์ที่ 13 พฤศจิกายน 2560 ณ ห้องกมลทิพย์ 3 โรงแรม เดอะ สุโกศล กรุงเทพฯ เพื่อสร้างความตระหนักด้านคุณภาพและจริยธรรมการวิจัยให้แก่ ผู้บริหาร นักวิจัย และนักวิชาการของสถาบันวิจัย และสถาบันอุดมศึกษา และยังเป็นการหารือถึงแนวทางการส่งเสริมคุณภาพและจริยธรรมการวิจัยร่วมกันเพื่อผลักดันมาตรฐานการวิจัยในประเทศให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล

ดร.กาญจนา วานิชกร ผู้ช่วยเลขาธิการ สวทน. ร่วมเป็นวิทยากรในงานเสวนาเชิงปฏิบัติการระดับประเทศ “Responsible Conduct of Research in Thailand” ในหัวข้อ นโยบายด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยได้นำเสนอแผนยุทธศาสตร์การวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ การดำเนินแผนงานสเปียร์เฮด (Spearhead Program) แผนงานวิจัยและนวัตกรรมขนาดใหญ่ที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจได้สูงในสาขาเป้าหมายของประเทศอย่างเป็นรูปธรรมและวัดผลได้ และความสำคัญของการจัดตั้ง และการดำเนินงานของคณะกรรมการส่งเสริมด้านจริยธรรมด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งงานเสวนาดังกล่าวถือได้ว่าเป็นเวทีสำคัญในการเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับคุณภาพและจริยธรรมการวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ตลอดจนเป็นเวทีระดมสมองเกี่ยวกับการทำงานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติ รวมถึงเป็นเวทีในการนำเสนอแนวทางการส่งเสริมคุณภาพและจริยธรรมการวิจัย เชื่อมโยงความร่วมมือระหว่างหน่วยงานวิจัยทั่วประเทศ เพื่อประโยชน์สูงสุดในการพัฒนาประเทศ

ทั้งนี้ การเสวนาเชิงปฏิบัติการระดับประเทศหัวข้อ Responsible Conduct of Research in Thailand ได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญมาบรรยาย ร่วมแลกเปลี่ยน และสร้างความเข้าใจเพื่อส่งเสริมความตระหนักด้านคุณภาพและจริยธรรมการวิจัยในหลายประเด็น อาทิ นโยบายด้านคุณภาพและจริยธรรมการวิจัย จริยธรรมด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ความประพฤติที่รับผิดชอบด้านการวิจัย ความซื่อสัตย์สุจริตในการวิจัยในระดับสากลแนวทางการส่งเสริมคุณภาพและจริยธรรมการวิจัย และบทบาทของหน่วยงานด้านการวิจัยในประเทศ รวมถึงยังมีการประชุมระดมสมองแบ่งตามสาขาการวิจัย เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ปัญหาการประพฤติทางการวิจัย ปัจจัยที่ทำให้เกิดการประพฤติมิชอบ ข้อควรหลีกเลี่ยง แนวทางแก้ไขปัญหาและการมีส่วนร่วม เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้แนวทางที่ดีในการบริหารจัดการในแต่ละสาขาวิจัย โดยแบ่งกลุ่มสาขาการวิจัย คือ สาขาชีววิทยาและวิทยาศาสตร์การแพทย์ (Biology and Medical Science) สาขาเคมีและเภสัชศาสตร์ (Chemistry and Pharmaceutical Science) สาขาวิศวกรรมศาสตร์และวิทยาการคอมพิวเตอร์ (Engineering and Computer Science) และสาขาอื่นๆ