รมว. กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหาร สวทน. ครั้งที่ 2/2560 หารือแผนการดำเนินงานตาม พ.ร.บ. การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย พ.ศ. 2560

31 มีนาคม 2560  

รมว. กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหาร สวทน. ครั้งที่ 2/2560 หารือแผนการดำเนินงานตาม พ.ร.บ. การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย พ.ศ. 2560
 

 
วันที่ 31 มีนาคม 2560 – เวลา 09.30 น. ดร.อรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (บวทน.) ครั้งที่ 2/2560 โดยมี รศ.นพ.สรนิต ศิลธรรม ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นรองประธานกรรมการ และ ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) ทำหน้าที่กรรมการและเลขานุการ ณ ห้องประชุมหว้ากอ 1 อาคารจัตุรัสจามจุรี ชั้น 14 สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.)


โดยประธานได้มอบหมายให้ สวทน. เร่งดำเนินงานตามนโยบาย รองนายกรัฐมนตรี (ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์) ในการขับเคลื่อนวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) ของประเทศเพื่อการพัฒนา ให้สอดคล้องต่อทิศทางนโยบายของรัฐบาล และ ในประเด็นสำคัญต่างๆ เช่น การสนับสนุนการเพิ่มค่าใช้จ่าย R&D เพื่อเร่งกระตุ้นไปสู่เป้าหมาย 1% GDP ในปี 61 โดยมีสัดส่วนการลงทุน เอกชน: รัฐ 70:30 ตามที่ตั้งไว้ ซึ่งโครงการเมืองนวัตกรรมอาหาร (Food Innopolis) ที่ สวทน. ดำเนินการอยู่เป็นอีกด้านที่สำคัญในการขับเคลื่อนดังกล่าว และขอให้ช่วยส่งเสริมและสนับสนุนให้เด็กไทยสนใจในการเรียนวิทยาศาสตร์มากขึ้น เนื่องจากมีงานอาชีพในด้านวิทยาศาสตร์อีกหลายด้านที่ยังขาดแคลนบุคลากรที่ทำงานด้าน วทน. อีกมาก อาจจะต้องสร้างเส้นทางอาชีพที่ชัดเจน ว่าจบแล้วสามารถประกอบอาชีพอะไรได้บ้าง

การประชุมในครั้งนี้ ที่ประชุม บวทน. ได้หารือแนวทางการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในอุตสาหกรรมเป้าหมาย๑๐ อุตสาหกรรม อันเกี่ยวเนื่องกับ พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย พ.ศ. 2560 ซึ่งได้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2560 ที่ผ่านมา ซึ่งตาม พ.ร.บ. ดังกล่าวกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ และ สวทน. จะดำเนินการร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ในการให้สิทธิและประโยชน์แก่ผู้ประกอบกิจการในการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมาย ที่ก่อให้เกิดการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศผ่านการลงทุนดังกล่าว โดยในเบื้องต้น ได้พิจารณาเป้าหมายที่สำคัญ อันได้แก่ การเพิ่มค่าใช้ค่าจ่ายในการลงทุนด้านวิจัยพัฒนาและนวัตกรรมไม่น้อยกว่า 50,000 ล้านบาท, เพิ่มการจ้างงานบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) ไม่น้อยกว่า 2,500 คน, พัฒนาศูนย์วิจัยและพัฒนาระดับภูมิภาคหรือระดับโลกไม่น้อยกว่า 10 แห่ง, การสร้างให้เกิดความร่วมมือพัฒนาด้าน วทน. ของกลุ่มอุตสาหกรรม (Industrial R&D Consortium) ไม่น้อยกว่า 10 โปรแกรม เป็นต้น


นอกจากนี้ ที่ประชุมได้พิจารณาเทคโนโลยีสำคัญ (Core Technologies) ของอุตสาหกรรมเป้าหมาย และกลไกสำคัญที่ภาครัฐและอุตสาหกรรมต้องเร่งดำเนินการเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในด้านเทคโนโลยีของอุตสาหกรรม เช่น กลไกการถ่ายทอดเทคโนโลยี การพัฒนาเครือข่ายวิจัยและนวัตกรรมเพื่ออุตสาหกรรม เป็นต้น โดยได้แนะนำให้จัดทำเป็นแผนระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว เพื่อติดตามแผนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ สวทน. ได้แจ้งที่ประชุมเพื่อทราบ สรุปผลการประชุมสภานโยบายวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวนช.) ครั้งที่ 1/2560 เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2560 โดยมีประเด็นสำคัญที่นายกรัฐมนตรี (ประธานกรรมการ) ได้ให้แนวทางไว้ในการประชุม และต้องเร่งขับเคลื่อนเพื่อให้เกิดการปฏิรูประบบวิจัยและนวัตกรรม สิ่งที่ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จเป็นลำดับแรกคือการเร่งจัดทำ (ร่าง) ยุทธศาสตร์การวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ 20 ปี โดยได้มอบหมายให้คณะอนุกรรมการด้านนโยบายและยุทธศาสตร์วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ รับไปดำเนินการต่อไป

 
.
 
และอีกหนึ่งวาระสำคัญ ได้แก่ การนำเสนอร่างกรอบแผนกลยุทธ์ของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์  เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ พ.ศ. 2560 - 2564 ต่อที่ประชุม ซึ่งได้ปรับทิศทางการดำเนินงานให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง อาทิ ยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปีตามนโยบายรัฐบาล แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 การปฏิรูประบบวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ  แผนยุทธศาสตร์ระยะ 20 ปี ของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และวาระการขับเคลื่อน Thailand 4.0: โมเดลขับเคลื่อนประเทศสู่ความมั่งคั่ง มั่นคงและยั่งยืน โดยกำหนดกรอบแนวคิดเชิงกลยุทธ์ (STI Strategic Framework) เพื่อเป็นทิศทางการทำงานในระยะ 5 ปีข้างหน้า ภายใต้วิสัยทัศน์ “พัฒนานโยบายและระบบวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคเกษตร อุตสาหกรรมและบริการ อย่างทั่วถึง”