พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความเข้าใจการสนับสนุนการพัฒนาและการประยุกต์ใช้งานเทคโนโลยี สำหรับยานยนต์สมัยใหม่

27 มีนาคม 2562  


(27 มีนาคม 2562) ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความเข้าใจการสนับสนุนการพัฒนาและการประยุกต์ใช้งานเทคโนโลยีสำหรับยานยนต์สมัยใหม่ กับอีก 7 หน่วยงานพันธมิตร เดินหน้าผนึกกำลังส่งเสริม สนับสนุนการพัฒนาและประยุกต์ใช้งานเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการคมนาคมทางบก ณ ห้องออดิทอเรียม ชั้น 3 อาคารศูนย์ประชุมอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย (อาคาร 14) อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จ.ปทุมธานี




ตามที่รัฐบาลมีนโยบายประเทศไทย 4.0 ที่ต้องการพัฒนาประเทศด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยมุ่งหวังให้มีการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีที่ทันสมัยและขยายผลเป็นอุตสาหกรรมที่สร้างมูลค่าสูงให้เกิดขึ้นภายในประเทศ ซึ่งจะเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของไทยให้ก้าวสู่ประเทศที่พัฒนาแล้ว เพื่อตอบสนองนโยบายของรัฐบาล กระทรวงคมนาคม โดยสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กรมทางหลวง (ทล.) กรมทางหลวงชนบท (ทช.) กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดย สวทน. กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ (มว.) และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จึงได้ร่วมมือกันเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาและประยุกต์ใช้งานเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการคมนาคมทางบก เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งและจราจร ช่วยลดอุบัติเหตุ เพิ่มความปลอดภัยบนท้องถนน ลดมลภาวะจากการใช้งานยานพาหนะ เพิ่มประสิทธิภาพในการบำรุงรักษาทาง ตลอดจนส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ของประเทศ ซึ่งเป็นหนึ่งในสิบอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve) ที่รัฐบาลตั้งไว้ ผ่านการร่วมกันพัฒนานโยบายและวางแผนด้านการคมนาคมทางบกที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยียานยนต์สมัยใหม่ตามกรอบนโยบายของรัฐบาล ร่วมกันดำเนินกิจกรรมวิจัย พัฒนา นวัตกรรม รวมไปถึงการพัฒนามาตรฐานทั้งภาคสมัครใจและมาตรฐานภาคบังคับร่วมกัน และ/หรือ ให้บริการตามภารกิจและบทบาทของแต่ละฝ่าย ในด้านต่าง ๆ ได้แก่ ยานยนต์ขับขี่อัตโนมัติ (Autonomous Vehicle) ยานยนต์ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า (Battery Electric Vehicle: BEV) ระบบสนับสนุนการคมนาคมและขนส่งแบบอัจฉริยะ (Intelligent Transport System: ITS) แผนที่ดิจิทัลแบบละเอียด (High Definition Map) ระบบสารสนเทศเพื่อการจัดระเบียบ และแก้ไขปัญหาการจราจร เป็นต้น


นอกจากนี้ ยังร่วมกันพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางนวัตกรรม เพื่ออุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ของประเทศ อาทิ สนามทดสอบยานยนต์ขับขี่อัตโนมัติ (AV Testing Track) ศูนย์ทดสอบต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์สมัยใหม่ ที่เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor of Innovation, EECi) หรือพื้นที่อื่นตามความเหมาะสม ร่วมกันพิจารณา กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ ที่เอื้อต่อการทดสอบและทดลองเพื่อประโยชน์ในการพัฒนาเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ โดยกำหนดพื้นที่ใด ๆ เป็นพื้นที่ที่ได้รับอนุญาตให้ทำการทดสอบทดลองใช้ (Regulatory Sandbox) ทั้งนี้ ต้องปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องและปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ผู้มีอำนาจกำหนด ตลอดจนร่วมกันส่งเสริมและสนับสนุนการประยุกต์ใช้งานเทคโนโลยี เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งและจราจร ช่วยลดอุบัติเหตุ เพิ่มความปลอดภัยบนท้องถนน เพิ่มประสิทธิภาพในการบำรุงรักษาทาง