ประชุมคณะกรรมการส่งเสริมจริยธรรมด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ครั้งที่ 1/2562

25 มกราคม 2562  


(23 มกราคม 2562) อาคารจัตุรัสจามจุรี – สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ หรือ สวทน. จัดการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมจริยธรรมด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ครั้งที่ 1/2562 เตรียมความพร้อมเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคณะกรรมการระหว่างประเทศว่าด้วยชีวจริยธรรม ครั้งที่ 26 (The 26th  Session of the International Bioethics Committee of UNESCO: IBC) การประชุมคณะกรรมาธิการโลกว่าด้วยจริยธรรมในความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ครั้งที่ 11 (The 11th Session of the World Commission on Ethics of Scientific Knowledge and Technology:  COMEST) และการประชุมเชิงวิชาการว่าด้วยการส่งเสริมจริยธรรมด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และการพัฒนาที่ยั่งยืน (The Conference on the Ethics in Science & Technology and the Sustainable Development Goals (SDGs)) ระหว่างวันที่ 2 – 7 กรกฎาคม 2562 ณ กรุงเทพฯ ประเทศไทย
 



ในการประชุมดังกล่าวได้รับเกียรติจาก นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขและสมาชิกคณะกรรมาธิการโลกว่าด้วยจริยธรรมในความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นประธานการประชุม และมี ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรีและสมาชิกคณะกรรมการระหว่างประเทศว่าด้วยชีวจริยธรรม นพ.ปฐม สวรรค์ปัญญาเลิศ รองปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ดร.กาญจนา วานิชกร รองเลขาธิการ สวทน. และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมประชุม โดยที่ประชุมได้มีการหารือความก้าวหน้าการดำเนินงานของคณะทำงานวิชาการส่งเสริมจริยธรรมด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีใน 5 กลุ่ม คือ 1. “การจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบาย แนวทางการบริหารจัดการประเด็นทางกฎหมายและจริยธรรมที่เกิดจากเทคโนโลยีจีโนม” 2. “การศึกษาเชิงลึกประเด็นจริยธรรมด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กลุ่มปัญญาประดิษฐ์ หุ่นยนต์และ Big Data” 3. “การวิจัยเพื่อพัฒนาจริยธรรมการวิจัยและระบบการประเมิน: ตอบสนองความท้าทายในการพัฒนาระบบการวิจัยของประเทศ” 4. “การศึกษาเชิงลึกประเด็นจริยธรรมด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่สำคัญสำหรับประเทศไทย กลุ่มจริยธรรมที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” และ 5. “การสื่อสาร การปรึกษา และการมีส่วนร่วมผ่านสื่อและศิลปะ: มุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของเยาวชนด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม” ซึ่งแต่ละกลุ่มได้นำเสนอผลการศึกษาวิเคราะห์ในประเด็นที่สำคัญทางจริยธรรมด้าน วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ ทั้งในบริบทของประเทศไทยและบริบทโลก เช่น 1. กฎหมาย กฎระเบียบและแนวปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับการตรวจพันธุกรรม 2. จุดสมดุลคุณธรรมพื้นฐาน (ซึ่งเทคโนโลยีและมนุษย์สามารถอยู่ร่วมกันได้ดีที่สุด) 3. หลักจริยธรรมการวิจัยและสาเหตุของการละเมิดจริยธรรมการวิจัย 4. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกและประเทศไทย และการลดโลกร้อนด้วยจริยธรรม และ 5. การส่งเสริมความรู้ความเข้าใจและการมีส่วนร่วมที่เกี่ยวกับประเด็นด้านจริยธรรม กฎหมายและสังคม (Ethical, Legal and Social Implications: ELSI) ในกลุ่มเยาวชน เป็นต้น
 



 
ทั้งนี้ ผลการศึกษาวิจัยและข้อเสนอเชิงนโยบายจากแต่ละกลุ่มจะถูกหยิบยกเป็นประเด็นนำเสนอในการประชุม “The 26th (Ordinary) Session of the International Bioethics Committee of UNESCO (IBC) / The 11th (Ordinary) Session of the World Commission on the Ethics of Scientific Knowledge and Technology (COMEST) / The Conference on the Ethics in Science & Technology and the Sustainable Development Goals (SDGs)” ที่ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพ ระหว่างวันที่ 2 – 7 กรกฎาคม 2562 ด้วย