รมว. กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหาร สวทน. ครั้งที่ 6/2560

31 สิงหาคม 2560  

    

วันที่
31 สิงหาคม 2560 เวลา 13.30 น. ดร.อรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (บวทน.) ครั้งที่ 6/2560 โดยมี รศ.นพ.สรนิต ศิลธรรม ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นรองประธานกรรมการ และ ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) ทำหน้าที่กรรมการและเลขานุการ ณ ห้องประชุมหว้ากอ 1 อาคารจัตุรัสจามจุรี ชั้น 14 สวทน.

     

การประชุมครั้งนี้ ได้นำเสนอที่ประชุมเพื่อทราบความก้าวหน้าการจัดทำกรอบบูรณาการงบประมาณวิจัยและนวัตกรรม ปีงบประมาณ 2562 ตามที่ สวทน. ในฐานะเลขานุการร่วมในคณะอนุกรรมการด้านการปรับระบบงบประมาณวิจัยและนวัตกรรมแบบบูรณาการ ภายใต้สภาวิจัยนโยบายและนวัตกรรมแห่งชาติ โดยคณะอนุกรรมการด้านการปรับระบบงบประมาณวิจัยฯ ได้เห็นชอบ (ร่าง) แนวทางการจัดสรรและบริหารงบประมาณการวิจัยและนวัตกรรมของประเทศที่กำหนดให้มีแผนงานรองรับการจัดสรรงบประมาณวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ 2 แผนงาน ได้แก่ แผนงานยุทธศาสตร์เป้าหมาย (Spearhead Program) และแผนงานยุทธศาสตร์ โดยกำหนดสัดส่วนของงบประมาณที่ร้อยละ 30 และ 70 ของงบประมาณบูรณาการวิจัยและนวัตกรรม ปี 2562 ตามลำดับ

ทั้งนี้ สวทน. จะร่วมทำหน้าที่ประสานงานกับหน่วยงานวิจัยเพื่อดำเนินการจัดทำข้อเสนอแผนงาน Spearhead และจัดหา ประธานโครงการ (Program Chair; PC) และ หน่วยงานบริหารจัดการและส่งมอบผลลัพธ์ (Outcome Delivery Unit ; ODU) ที่มีศักยภาพเหมาะสมในการบริหารจัดการโครงการ/แผนงาน Spearhead ต่อไป

       

นอกจากนี้ที่ประชุมได้พิจารณาเห็นชอบแผนการดำเนินงานและงบประมาณสำนักงานฯ ประจำปี 2561 ซึ่งผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ  2561 สภานิติบัญญัติแห่งชาติ แล้ว โดยมีแผนการดำเนินงานโครงการที่สำคัญ 4 แผนงาน ได่แก่ 1) แผนงานบุคลากรภาครัฐ 2) แผนงานพื้นฐาน 3) แผนงานยุทธศาสตร์ และ 4) แผนงานบูรณาการ ที่จะดำเนินการขับเคลื่อนโครงการสำคัญ ได้แก่ เมืองนวัตกรรมอาหาร (Food Innopolis), การส่งเสริมวิสาหกิจเริ่มต้น (Startup), การส่งเสริมบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมจากมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยของภาครัฐไปปฏิบัติงานเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในภาคเอกชน (Talent Mobility) และการบูรณาการจัดการเรียนการสอนในโรงงาน (Work-intergrated Learning; WiL) เป็นต้น