สวทน. จับมือ มจธ. จัดประชุม “ความดีสีเขียว: จริยธรรมช่วยลดโลกร้อนได้จริงหรือไม่?” ชี้!! หากทุกภาคส่วนร่วมมือ ภายในปี 2573 ไทยสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 20 – 25% ตามเป้า

7 กุมภาพันธ์ 2562  


(5 กุมภาพันธ์ 2562) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และโครงการพัฒนาเสริมสร้างความรู้และงานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ระบบโลก มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (Earth Systems Science – KMUTT) จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ “ความดีสีเขียว: จริยธรรมช่วยลดโลกร้อนได้จริงหรือไม่?” ณ ห้องประชุม X04A-B ชั้น 10 KMUTT Knowledge Exchange for Innovation Center โดยมี ดร.กาญจนา วานิชกร รองเลขาธิการ สวทน. เป็นประธานเปิดงาน และมีวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิทั้งจากภาครัฐและสถาบันการศึกษามาร่วมแลกเปลี่ยน

จากรายงานพิเศษของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Intergovernmental Panel on Climate Change : IPCC) ว่าด้วยผลกระทบของการเพิ่มอุณหภูมิเฉลี่ย 1.5 องศาเซลเซียส เมื่อเดือนตุลาคม 2561 ที่ผ่านมา เป็นสัญญาณเตือนให้ทั่วโลกรับรู้ว่ามีเวลาเหลือเพียง 12 ปี ในการควบคุมอุณหภูมิโลกไม่ให้สูงกว่าเดิมเกิน 1.5 องศาเซลเซียส เพื่อหลีกเลี่ยงความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
 

ดร.กาญจนา วานิชกร รองเลขาธิการ สวทน. เปิดเผยว่า 12 ปี เป็นระยะเวลาที่ไม่นาน การใช้เทคโนโลยี กลไกทางการตลาด หรือมาตรการอื่น ๆ ที่เข้มข้นในการลดก๊าซเรือนกระจก ยังไม่แน่ชัดว่าจะเพียงพอต่อการควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิไม่ให้เกิน 1.5องศาหรือไม่ โดยที่ผ่านมากิจกรรมต่าง ๆ อันสืบเนื่องมาจากข้อตกลงและการตั้งรับภายในประเทศ ทั้งเพื่อลดก๊าซเรือนกระจกและเพื่อการบรรเทาผลกระทบจากโลกร้อนเกิดขึ้นมากมายทั่วโลก ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้ต้องการมากกว่ามาตรการและกลไกที่ปฏิบัติอยู่ในปัจจุบันเพื่อช่วยให้บรรลุเป้าหมายตามที่ต้องการ อย่างไรก็ตาม ในปี พ.ศ. 2560 ที่ประชุมคณะกรรมาธิการโลกว่าด้วยจริยธรรมในความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี World Commission on the Ethics of Scientific Knowledge and Technology (COMEST) ได้เสนอ Declaration of Ethical Principle related to Climate Change และผ่านการรับรองจาก UNESCO ในเดือนพฤศจิกายน 2560 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้มีการใช้หลักการของจริยธรรมในกิจกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งการใช้แนวคิดจริยธรรมควบคู่กับหลักการทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นเรื่องที่มีการกล่าวถึงทั่วโลกแต่ยังไม่ได้นำมาปฏิบัติอย่างจริงจัง


ในประเทศไทยเอง การศึกษาข้อมูลเชิงลึกประเด็นจริยธรรมที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ เป็นภารกิจสำคัญของ 1 ใน 5 กลุ่มของคณะทำงานวิชาการส่งเสริมจริยธรรมด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งประกอบด้วย 1. การจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบาย แนวทางการบริหารจัดการประเด็นทางกฎหมายและจริยธรรมที่เกิดจากเทคโนโลยีจีโนม 2. การศึกษาเชิงลึกประเด็นจริยธรรมด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กลุ่มปัญญาประดิษฐ์ หุ่นยนต์และ Big Data 3. การวิจัยเพื่อพัฒนาจริยธรรมการวิจัยและระบบการประเมิน: ตอบสนองความท้าทายในการพัฒนาระบบการวิจัยของประเทศ 4. การศึกษาเชิงลึกประเด็นจริยธรรมด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่สำคัญสำหรับประเทศไทย กลุ่มจริยธรรมที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และ 5. การสื่อสาร การปรึกษา และการมีส่วนร่วมผ่านสื่อและศิลปะ: มุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของเยาวชนด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม โดยการศึกษาข้อมูลเชิงลึกประเด็นจริยธรรมที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศในประเทศไทยมีมีความสำคัญมากสำหรับการกำหนดนโยบายและกรอบแนวทางการปฏิบัติให้เป็นมาตรฐานเพื่อให้ประเทศได้รับประโยชน์จากการพัฒนาโครงการ/กิจกรรม ด้านการลดก๊าซเรือนกระจกและการปรับตัวได้สูงสูด


รศ.ดร.สิรินทรเทพ เต้าประยูร หัวหน้าโครงการพัฒนาเสริมสร้างความรูและงานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ระบบโลก มจธ. กล่าวว่า โครงการด้านการลดก๊าซเรือนกระจก และการปรับตัวต่อสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง เกิดขึ้นในประเทศไทยนานแล้ว ทั้งที่เกิดขึ้นเพื่อการลดก๊าซและปรับตัวโดยตรง และเกิดขึ้นจากการพัฒนาด้วยเทคโนโลยีชุมชน โดยเฉพาะโครงการที่ได้นำศาสตร์พระราชาปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปดำเนินการ รวมถึงโครงการในพระราชดำริด้วย อาทิ แม่แจ่มโมเดล ลดการเผาวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรด้วยการทำเกษตรผสมผสาน เปลี่ยนจากการปลูกข้าวโพด เป็นปลูกกาแฟ ไผ่ และแตงโม เป็นต้น ซึ่งโครงการเหล่านี้ล้วนประสบความสำเร็จ โดยมีประเด็นจริยธรรมแฝงอยู่ในนั้น แต่ยังไม่ได้ถูกถอดบทเรียนที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศออกมาให้เห็นอย่างชัดเจน การจัดประชุมเชิงปฏิบัติการ “ความดีสีเขียว: จริยธรรมช่วยลดโลกร้อนได้จริงหรือไม่?” ในครั้งนี้จึงเป็นอีกก้าวที่สำคัญที่จะถอดบทเรียนและสกัดประเด็นจริยธรรมจากโครงการที่ทำสำเร็จในอดีต เพื่อจัดทำแนวทางนโยบายในการนำจริยธรรมด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไปใช้ในการลดก๊าซเรือนกระจกและการปรับตัวต่อสภาพภูมิอากาศในอนาคต รวมถึงทำให้ผู้เข้าร่วมประชุมได้รับทราบข้อมูลจริยธรรมด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ผ่านการเสนอบทวิเคราะห์จริยธรรมจากผู้เชี่ยวชาญ รวมทั้งการวิเคราะห์ข้อมูลจากการลงพื้นที่ด้วย


“Declaration of Ethical Principle related to Climate Change เริ่มมีการกล่าวถึงกันมากขึ้นในการใช้เป็นแนวปฏิบัติกับกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่ยังไม่ถูกนำไปสู่การปฏิบัติจริงในทุกระดับอย่างชัดเจน ทั้งนี้ ภายใต้บริบทของประเทศไทยควรมีการสนับสนุนให้เกิดจริยธรรมที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในมิติต่าง ๆ อาทิ มิติความร่วมมือกันความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ความเสมอภาคและความยุติธรรม และการใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และความซื่อสัตย์ในการตัดสินใจ โดยในทุกมิติต้องอาศัยการทำงานร่วมกันทั้งในส่วนผู้จัดทำนโยบาย ภาคเอกชน การปกครองท้องถิ่น ชุมชน ตลอดจนภาคประชาชน เพื่อให้ประเทศไทยไปสู่เป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ร้อยละ 20 - 25 จากปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกรณีปกติ ภายในปี พ.ศ. 2573 ตามที่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ประกาศไว้ในการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ ครั้งที่ 70 ณ สำนักงานสหประชาชาตินครนิวยอร์ก เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2558” รศ.ดร.สิรินทรเทพ กล่าว






ทั้งนี้ ผลผลิตจากการประชุมในครั้งนี้ จะถูกหยิบยกไปเป็นประเด็นสำคัญในการจัดประชุมคณะกรรมการระหว่างประเทศว่าด้วยชีวจริยธรรม ครั้งที่ 26 (The 26th Session of the International Bioethics Committee of UNESCO: IBC) การประชุมคณะกรรมาธิการโลกว่าด้วยจริยธรรมในความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ครั้งที่ 11 (The 11th Session of the World Commission on Ethics of Scientific Knowledge and Technology:  COMEST) และการประชุมเชิงวิชาการว่าด้วยการส่งเสริมจริยธรรมด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และการพัฒนาที่ยั่งยืน (The Conference on the Ethics in Science & Technology and the Sustainable Development Goals (SDGs)) ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ ระหว่างวันที่ 2 – 7 กรกฎาคม 2562








สำหรับการประชุมเชิงปฏิบัติการ “ความดีสีเขียว: จริยธรรมช่วยลดโลกร้อนได้จริงหรือไม่?” ครั้งนี้ เป็นเวทีที่ได้รับเกียรติจากวิทยากรทั้งจากภาครัฐ และสถาบันการศึกษา มาแลกเปลี่ยนในประเด็นจริยธรรมกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยภายในงานมีการนำเสนอสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกและประเทศไทย จากผู้แทนกองประสานการจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงการแลกเปลี่ยนในหัวข้อที่น่าสนใจต่าง ๆ อาทิ หัวข้อ จริยธรรมโลกร้อนกับ Declaration of CC และกรณีตัวอย่าง, จริยธรรมกับการเข้าสู่สังคม Resilience รวมถึงยังมีวงเสวนา หัวข้อ ลดโลกร้อนด้วยจริยธรรม วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้จริงหรือ? ที่มีการแลกเปลี่ยนในหลายประเด็น เช่น Overview: การลดโลกร้อนด้วยจริยธรรม จริยธรรมกับเป้าหมาย Paris Agreement จริยธรรมในการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกับข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ จริยธรรมกับ Carbon Pricing จริยธรรมกับการปฏิบัติจริง ตลอดจนประเด็นจริยธรรมกับชุมชนคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Society) เป็นต้น