สวทน. จับมือ 3 มหาวิทยาลัย งัดทีเด็ด! “วิทย์แก้จน” ยกระดับผู้ประกอบการท้องถิ่น ผ่านโครงการ Talent Mobility เพื่อยกระดับศักยภาพด้าน วทน. แก่ผู้ประกอบการ

2 กรกฎาคม 2561  


โครงการ Talent Mobility เพื่อยกระดับศักยภาพด้าน วทน. แก่ผู้ประกอบการ เป็นโครงการเพื่อส่งเสริมและสร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจภายในประเทศ โดยดำเนินการตามนโยบาย “วิทย์แก้จน และยกระดับภูมิภาค” ของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมถึงเป็นโครงการที่ต่อยอดและขยายผลมาจากโครงการส่งเสริมบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมจากมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยภาครัฐไปปฏิบัติงานเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในภาคเอกชน หรือ Talent Mobility ที่ริเริ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2557 โดย สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) ซึ่งถือเป็นกลไกสนับสนุนหนึ่งที่ทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายบุคลากรวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) ระหว่างภาครัฐและเอกชนจำนวนมาก และแม้ว่าการดำเนินโครงการ Talent Mobility ตลอด 4 ปี ที่ผ่านมา จะประสบความสำเร็จแล้วกว่า 400 โครงการ แต่จากการแข่งขันทางธุรกิจที่มีความเข้มข้นมากขึ้น ผนวกกับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ความต้องการด้านเทคโนโลยีและการวิจัยพัฒนา (Technology Acquisition) ของภาคเอกชนมีรูปแบบที่หลากหลายมากขึ้น ทำให้มีความจำเป็นที่จะต้องมีการต่อยอดและขยายผลโครงการ Talent Mobility เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ประกอบการที่มีจำนวนมากได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่ม 5 เทคโนโลยีและอุตสาหกรรมเป้าหมาย ซึ่งถือเป็นอุตสาหกรรมสำคัญที่จะเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศไทยในปัจจุบันและอนาคต
 

 
ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ เลขาธิการ สวทน. เปิดเผยว่า โครงการ Talent Mobility โดย สวทน. ได้หารือกับหน่วยงานในเครือข่ายอย่างต่อเนื่องเพื่อหาแนวทางในการพัฒนาและยกระดับศักยภาพของผู้ประกอบการที่กำลังประสบกับการแข่งขันที่รุนแรงในการดำเนินธุรกิจ และกระแสของการเพิ่มศักยภาพการแข่งขันด้วยการวิจัยพัฒนาและนวัตกรรม โดยแนวทางหนึ่งคือการถ่ายทอดแนวทางการประยุกต์ใช้เครื่องมือสำหรับการวิเคราะห์ปัญหาความต้องการแบบองค์รวมแก่ผู้ประกอบการ เพื่อเตรียมความพร้อม และสร้างความเข้าใจในการดำเนินการวิจัยและพัฒนาก่อนที่จะเข้าร่วมโครงการสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมของภาครัฐ ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญของการพัฒนาธุรกิจด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมให้สอดคล้องกับสถานการณ์การแข่งขันของตลาดในยุคปัจจุบัน และเพื่อให้เกิดความยั่งยืนต่อการยกระดับศักยภาพผู้ประกอบการไทย สวทน. จึงเห็นควรให้มีการศึกษาวิจัยเชิงนโยบายการพัฒนาและนำร่องแพลตฟอร์มสำหรับการจัดทำ Technology Acquisition แก่ผู้ประกอบการจากการต่อยอดแพลตฟอร์มเครือข่าย Talent Mobility ตลอดจนสร้างความเชื่อมโยงระหว่างอุทยานวิทยาศาสตร์ กับหน่วยงานเครือข่าย Talent Mobility ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ซึ่งเป็นการสนับสนุนการพัฒนาระบบนิเวศนวัตกรรมของประเทศ (National Innovation Ecosystem) ให้มีความเข้มแข็งและการเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจของประเทศไปเป็นรูปแบบเศรษฐกิจที่เน้นคุณค่า (Value-Based Economy) อาทิ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio-Economy) และเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy)




การดำเนินโครงการในครั้งนี้ สวทน. มุ่งเป้ายกระดับขีดความสามารถด้านการแข่งขันด้วย วทน. แก่ผู้ประกอบการ SME วิสาหกิจชุมชน (Community Enterprise) และธุรกิจประกอบการท้องถิ่น (OTOP) ในทั้งในส่วนกลางและภูมิภาค โดยมุ่งเน้นในกลุ่ม 5 เทคโนโลยีและอุตสาหกรรมเป้าหมาย คือ 1. กลุ่มอาหาร เกษตร และเทคโนโลยีชีวภาพ (Food, Agriculture & Bio-Tech) 2. กลุ่มสาธารณสุข สุขภาพ และเทคโนโลยีทางการแพทย์ (Health, Wellness & Bio-Med) 3. กลุ่มเครื่องมือ อุปกรณ์อัจฉริยะ หุ่นยนต์ และระบบเครื่องกลที่ใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ควบคุม (Smart Devices, Robotics & Mechatronics) 4. กลุ่มดิจิตอล เทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตที่เชื่อมต่อและบังคับอุปกรณ์ต่าง ๆ ปัญญาประดิษฐ์และเทคโนโลยีสมองกลฝังตัว (Digital, IoT, Artificial Intelligence & Embedded Technology) และ 5. กลุ่มอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ วัฒนธรรม และบริการที่มีมูลค่าสูง (Creative, Culture & High Value Services) โดย สวทน. จะดำเนินการขับเคลื่อนร่วมกับ 3 มหาวิทยาลัย ที่มีรูปแบบเทคโนโลยีและเครื่องมือที่แตกต่างกันดังนี้
  • ร่วมกับ มหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าธนบุรี พัฒนาผู้ประกอบการผ่านการสร้างองค์ความรู้และทักษะในการบริหารธุรกิจ ด้วยเทคโนโลยี Design Sprint ซึ่งจะจัดสัมมนาขึ้นใน 4 ภูมิภาค คือ ภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคใต้ และภาคกลาง สำหรับผู้ประกอบการ เจ้าของธุรกิจ OTOP สหกรณ์ และร้านค้าด้านภาคการเกษตร อาหาร ท่องเที่ยว สุขภาพ และการแพทย์ ที่สนใจอัพเกรดธุรกิจกับทีมสร้างนวัตกรรมด้วยเทคนิค More Eyes เทคโนโลยีที่จะมาช่วยทำสินค้าและบริการให้ถูกใจลูกค้า และตอบโจทย์ลูกค้ายุคใหม่มากกว่าเดิม
  • ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พัฒนาผู้ประกอบการผ่านการสร้างองค์ความรู้และทักษะในการบริหารธุรกิจ ด้วยเทคโนโลยีอุตสาหกรรมอาหาร
  • ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พัฒนาผู้ประกอบการผ่านการสร้างองค์ความรู้และทักษะในการบริหารธุรกิจ ด้วยเทคโนโลยี Digital Transformation เพื่อให้ผู้ประกอบการในพื้นที่ภูมิภาคมีความเข้าใจในการนำเทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Technology) มาช่วยยกระดับศักยภาพด้านการแข่งขัน โดยจะจัดกิจกรรมสัมมนาขึ้นในพื้นที่ 3 จังหวัด คือ แม่ฮ่องสอน เชียงราย และเชียงใหม่ โดยผู้ประกอบการที่เข้าร่วมกิจกรรม Workshop ในครั้งนี้จะได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้ต่าง ๆ มากมาย อาทิ การเชื่อมโยงธุรกิจกับโลกดิจิทัล การใช้ Open source ซอฟต์แวร์เพื่อนำไปใช้ในธุรกิจ เช่น การบริหารการขาย การบริหารบัญชี งบประมาณ คลังสินค้า การขายสินค้าแบบ E-Commerce และการวิเคราะห์กระบวนการขนส่งของผู้ประกอบการ เป็นต้น โดยจะมีการจัดงานสัมมนา และการบรรยายในหัวข้อ SME ก้าวไกลในยุค DX ด้วย
 
ทั้งนี้ ผู้สนใจสามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมของทั้ง 3 กิจกรรมได้ที่ https://www.facebook/Talent Mobility/ หรือ https://www.facebook.com/STIThailandofficial/ (ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่ายการร่วมสัมมนา)



 
……………………………………………………
 
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม  : สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) 
โทรศัพท์ 0 2160 5432 ต่อ 730 (วรรณพร) 081-7536119 (แพรประพันธ์) Email: pr@sti.or.th / Website: www.sti.or.th/sti / Facebook: https://www.facebook.com/STI สวทน.