นำเสนอแนวทางความร่วมมือพัฒนากำลังคนเพื่อตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรมอย่างยั่งยืน

9 มีนาคม 2561  


(8 มีนาคม 2561) ห้องประชุมหว้ากอ 1 สวทน. - ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) ร่วมหารือกับ คุณสิทธิพรชัย รัตนะ Campus Manager บริษัท สยามมิชลิน จำกัด พร้อมด้วย นักศึกษาและคณาจารย์จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อนำเสนอผลการดำเนินงานโครงการ Work-Integrated Learning : WiL รูปแบบโรงเรียนในโรงงาน และการขยายผล WiL-โรงเรียนในโรงงาน ที่ทำมาแล้ว 7 ปี ไปสู่แผนยุทธศาสตร์โครงการ Michelin Talent Academy ครอบคลุมนักศึกษาทั้งระดับ ปวส. ปริญญาตรี (ป.ตรี) และปริญญาโท (ป.โท) รวมนักศึกษาจำนวน 268 คน จาก 5 หน่วยงานรัฐ และ 10 สถาบันการศึกษา เพื่อนำไปสู่การปฏิรูปการพัฒนาเส้นทางอาชีพและการศึกษาในภาคอุตสาหกรรมของประเทศไทย

 



ตั้งแต่ในปี พ.ศ. 2555 บริษัท สยามมิชลิน จำกัด ร่วมกับ สวทน. และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ได้ร่วมกันสร้างรูปแบบ WiL รูปแบบโรงเรียนในโรงงาน ที่มีนักศึกษา ปวส. ปฏิบัติงานเทียบเท่าพนักงานปกติ ตลอดระยะเวลา 2 ปี ในโรงงาน ถือเป็นการสร้างคนที่มีประสบการณ์โรงงาน 2 ปี และได้ความรู้เทคโนโลยีจากอุตสาหกรรมการผลิตสมัยใหม่ในระดับ ปวส. จากเริ่มต้น 17 คนต่อรุ่น จวบจนปัจจุบัน พ.ศ. 2561 บริษัทได้พัฒนาไปสู่แผนยุทธศาสตร์โครงการ Michelin Talent Academy ที่จะเปลี่ยนการฝึกงานของนักศึกษา (Internship) ในโครงการต่างๆ ทั้งหมด ตั้งแต่ระดับ ปวส. ป.ตรี ป.โท จำนวน 268 คน จาก 5 หน่วยงานรัฐ และ 10 สถาบันการศึกษา เป็น Talent Employee หรือ พนักงานที่มีศักยภาพในการเรียนรู้ ซึ่งปฏิบัติงานเพื่อสร้างคุณค่าและประโยชน์ให้กับอุตสาหกรรมตั้งแต่วันเข้าโรงงานจนจบการศึกษา และมีเส้นทางการเติบโตภายในบริษัทรองรับผ่านการทำงานและการศึกษาที่เรียกว่า โรงเรียนในโรงงาน (ระดับ ปวส.-ป.ตรี-ป.โท) เพื่อให้เกิดความยั่งยืนของการพัฒนากำลังคนในอุตสาหกรรม และจะส่งผลกระทบให้เกิดการยกระดับการศึกษาที่ต้องใช้ความรู้ในศาสตร์ต่างๆ (diversity) มาร่วมกันจัดการศึกษาโดยมีภาคอุตสาหกรรมเป็นผู้นำ (Industry Led) และคาดว่าในปี พ.ศ. 2563 (ค.ศ.2020) จะมี Talent Employee ทั้งหมดกว่า 500 คน


ความเห็นในที่ประชุมได้ กล่าวชื่นชมความก้าวหน้าในการดำเนินงานนี้ ซึ่งถือว่าประสบความสำเร็จและสามารถตอบโจทย์ด้านกำลังคนให้กับภาคอุตสาหกรรมได้เป็นอย่างดี ถือเป็นตัวอย่างของการพัฒนากำลังคนที่ตอบสนองต่อความต้องการในภาคอุตสาหกรรมร่วมกับภาคการศึกษาโดยที่นักศึกษาได้ประโยชน์สูงสุดในปัจจุบัน (Best Practice in 2018) ซึ่ง สวทน. จะช่วยผลักดันในการนำเสนอต่อรัฐบาล ในการต่อยอดโครงการนี้ให้แพร่หลาย และเกิดการนำไปใช้พัฒนากำลังคนให้กับภาคอุตสาหกรรมอื่นๆ อย่างเป็นระบบที่ยั่งยืนต่อไป