สวทน. ผนึกกำลัง เอสเอ็มอีแบงค์ และมจธ. เสริมแกร่งสตาร์ทอัพ และเอสเอ็มอีไทย เดินหน้าใช้งานวิจัย นวัตกรรมและเทคโนโลยีเพิ่มศักยภาพ

23 กุมภาพันธ์ 2561  


เอสเอ็มอีแบงค์ ทาวเวอร์ – สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) ผนึกกำลัง ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME Bank) และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “โครงการพัฒนาผู้ประกอบการ Startup และ SMEs ก้าวไกลครบวงจร” เมื่อวันศุกร์ที่ 23 กุมภาพันธ์ 2561 พร้อมเดินหน้าเสริมแกร่งสตาร์ทอัพ และเอสเอ็มอีด้วยการนำงานวิจัย นวัตกรรมและเทคโนโลยีมาพัฒนาศักยภาพให้สามารถแข่งขันได้ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ

ตามที่ รัฐบาลมีนโยบายในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ของประเทศเพื่อเข้าสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0 โดยมุ่งเน้นส่งเสริม สนับสนุนพัฒนาผู้ประกอบการเอสเอ็มอีใน 5 กลุ่มอุตสาหกรรม คือ 1.อุตสาหกรรมอาหาร ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร เทคโนโลยีชีวภาพ 2. อุตสาหกรรมกลุ่มสาธารณสุข สุขภาพ และเทคโนโลยีทางการแพทย์ 3. กลุ่มเครื่องมืออุปกรณ์อัจฉริยะ หุ่นยนต์ และระบบเครื่องกลที่ใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ควบคุม 4. กลุ่มดิจิตอล  เทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตที่เชื่อมต่อและบังคับอุปกรณ์ต่าง ๆ ปัญญาประดิษฐ์และเทคโนโลยีสมองกลฝังตัว และ 5. กลุ่มอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ วัฒนธรรม และบริการที่มีมูลค่าสูง ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดการส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาผู้ประกอบการให้แข็งแกร่ง และสามารถแข่งขันได้ทั้งบนเวทีในประเทศและต่างประเทศ สวทน. จึงได้ร่วมกับ เอสเอ็มอีแบงค์ และ มจธ. ดำเนินโครงการพัฒนาผู้ประกอบการสตาร์ทอัพ และเอสเอ็มอีขึ้น ซึ่งเป็นโครงการที่จะบูรณาการความร่วมมือด้านการพัฒนาผู้ประกอบการรอบด้าน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อผลักดันและส่งเสริมการนำงานวิจัย นวัตกรรม และเทคโนโลยีไปพัฒนาผู้ประกอบการในกลุ่มสตาร์ทอัพ และเอสเอ็มอี สร้างความเชื่อมโยงและบูรณาการในด้านต่าง ๆ (Ecosystem) ให้เกิดการเรียนรู้และสามารถนำไปพัฒนาต่อยอดแก่กลุ่ม สตาร์ทอัพ และเอสเอ็มอี โดยสามารถใช้บริการด้านการพัฒนาผู้ประกอบการอย่างเป็นระบบและครบทุกด้าน สร้างระบบพี่เลี้ยงทางธุรกิจ (Mentor) ให้แก่ผู้ประกอบการ รวมทั้งสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการสตาร์ทอัพ และเอสเอ็มอี ให้เข้าถึงแหล่งทุนในรูปแบบต่าง ๆ เช่น การให้เงินสินเชื่อ การร่วมลงทุน เป็นต้น 


ผศ.ดร.สาวิตรี รัตนสุมาวงศ์ ที่ปรึกษาโครงการส่งเสริมบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม จากมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยของภาครัฐไปปฏิบัติงานเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในภาคเอกชน (Talent Mobility) กล่าวในฐานะผู้แทน สวทน. ว่า การลงนามความร่วมมือครั้งนี้ ถือเป็นอีกก้าวหนึ่งที่สำคัญ ในการขับเคลื่อนประเทศไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 และเป็นการสนับสนุนผู้ประกอบการสตาร์ทอัพ และเอสเอ็มอีในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยความร่วมมือที่เกิดขึ้นจะทำให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงการสนับสนุนของรัฐบาลในด้านต่างๆ อย่างเป็นระบบเพื่อพัฒนาศักยภาพให้สามารถแข่งขันได้ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ อาทิ การสนับสนุนเพื่อเตรียมความพร้อมสู่แหล่งทุน การสนับสนุนในเรื่องการพัฒนาศักยภาพของสถานประกอบการโดยการนำเอาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมมาเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนา ซึ่งจะเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะก่อให้เกิดการพัฒนาอย่างมั่นคงและยั่งยืน
 
“สวทน. มีนโยบายในการส่งเสริมบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม จากมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยของภาครัฐไปปฏิบัติงานเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในภาคเอกชน (Talent Mobility) โดยปัจจุบันมีนักวิจัยและผู้ช่วยนักวิจัยจากเครือข่าย Talent Mobility จำนวน 21 มหาวิทยาลัย เคลื่อนย้ายไปปฏิบัติงานในภาคเอกชนแล้วกว่า 1,000 คน ในสถานประกอบการกว่า 300 แห่ง ซึ่งพบว่าประเภทของอุตสาหกรรมที่เข้าร่วมโครงการมากที่สุดคือ อุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร คิดเป็น 37% จากจำนวนสถานประกอบการทั้งหมดที่เข้าร่วมโครงการ และเป็นกิจกรรมการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมในสถานประกอบการมากถึง 61% ความร่วมมือโครงการพัฒนาผู้ประกอบการ Startup และ SMEs ก้าวไกลครบวงจรครั้งนี้ จึงเป็นโครงการที่ สวทน. มีความยินดีในการเป็นส่วนหนึ่งของการสนับสนุนการลงทุนวิจัยพัฒนาและนวัตกรรมในภาคเอกชน ซึ่งจะเป็นพื้นฐานการสร้างระบบเศรษฐกิจฐานความรู้ของประเทศ โดย สวทน. จะร่วมสนับสนุนการดำเนินการระดับนโยบายเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดกลไกการอำนวยความสะดวกด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ซึ่งครอบคลุมถึงกลไกการสนับสนุนและส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากกำลังคนด้านการวิจัยจากภาครัฐ การสนับสนุนการใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐาน ทรัพยากร และมาตรการสนับสนุนด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมถึงอำนวยความสะดวกในการสนับสนุนและประสานงานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในภาครัฐ สถาบันอุดมศึกษา และภาคเอกชน เพื่อให้เกิดการเคลื่อนย้ายบุคลากรวิจัยจากภาครัฐไปปฏิบัติงานเพื่อช่วยเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในภาคเอกชน ซึ่งจะเป็นอีกแรงขับเคลื่อนที่สำคัญในการเสริมสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการไทย และจะส่งผลให้ระบบเศรษฐกิจของประเทศไทยเติบโตได้อย่างยั่งยืนต่อไป” ผศ.ดร.สาวิตรี กล่าว