สวทน. จับมือ กรมยุโรป ระดมความเห็นกำหนดทิศทางดึงผู้ประกอบการกลุ่มยุโรปร่วมทุน มอบลายแทงจุดแข็งประเทศไทย เกษตร อาหาร พลังงานชีวภาพ ผ่านทูตแต่ละประเทศ

20 กุมภาพันธ์ 2561  

.
 

ไฮแอท เอราวัณ  – เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2561 กรมยุโรป กระทรวงการต่างประเทศ ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) จัดกิจกรรมเสวนาระดมความคิดเห็นจากหน่วยงานผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้อง เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการกำหนดทิศทางและการวางแผนการดำเนินความสัมพันธ์และความร่วมมือกับประเทศหรือองค์การระหว่างประเทศในภูมิภาคยุโรป

ดร.กัญญวิมว์ กีรติกร ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า แนวโน้มทั่วโลกเน้นการพัฒนาประเทศโดยใช้แนวทางเศรษฐกิจชีวภาพ ซึ่งมีหัวใจหลักคือ การเปลี่ยนเศรษฐกิจฐานเกษตรกรรมไปเป็นเศรษฐกิจนวัตกรรม ประเทศไทยมีความพร้อมในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยรูปแบบนี้ เพราะมีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์เป็นต้นทุนสําคัญ อีกทั้ง พื้นฐานเศรษฐกิจของไทยเป็นเศรษฐกิจฐานเกษตรกรรมที่เน้นการส่งออกสินค้าเกษตร มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง ส่งผลให้เกิดอุตสาหกรรมหลากหลายชนิด แต่โจทย์ใหญ่ของรัฐบาลคือ จะทำอย่างไรให้เกิดความยั่งยืน ไม่กระทบสิ่งแวดล้อม ประชาชนมีสุขภาพดีขึ้น อาหารปลอดภัยขึ้น มีผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ดีกว่าเดิม มีการสร้างงานเพิ่ม 
 


 

 

สอดคล้องกับ ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ เลขาธิการ สวทน. กล่าวว่า การเสวนาในครั้งนี้ เน้นถึงประเด็นความก้าวหน้าด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) ที่เกี่ยวข้องกับสาขา เศรษฐกิจฐานชีวภาพ เพื่อส่งผลให้เกิดความเชื่อมั่นและภาพลักษณ์ที่ดีของภาคเศรษฐกิจและภาคอุตสาหกรรมของประเทศไทยต่อไป ผลลัพธ์คือการสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับกรมยุโรป โดยหนึ่งในความร่วมมือที่มีความโดดเด่นและมีการขยายตัวอย่างกว้างขวางคือ ด้าน วทน. ซึ่งภูมิภาคยุโรปมีองค์ความรู้และแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศเป็นที่ยอมรับในระดับสากล และจากการที่ประเทศไทยมีความแข็งแกร่งด้านเกษตรกรรม อาหาร พลังงานชีวภาพ และมีความได้เปรียบทางด้านความหลากหลายทางชีวภาพ กรมยุโรปจึงเล็งเห็นลู่ทางที่ประเทศไทยจะสามารถเรียนรู้จากเทคโนโลยีและนวัตกรรมเหล่านั้นของภูมิภาคยุโรป และนำมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาอุตสาหกรรมหรือการพัฒนาระบบเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม เพื่อผลักดันให้เกิดการปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจของประเทศไทยให้ก้าวไปสู่ Thailand 4.0 ที่ขับเคลื่อนโดยระบบเศรษฐกิจฐานชีวภาพ  
 

 

ด้านนายทรงพล สุขจันทร์ อธิบดีกรมยุโรป กล่าวว่า กรมยุโรป มีภารกิจหลักในการรักษาและดูแลผลประโยชน์ของไทยในภูมิภาคยุโรป รวมทั้งการดำเนินการเพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างประเทศไทยในระดับทวิภาคีและพหุภาคีกับประเทศหรือองค์การระหว่างประเทศในภูมิภาคยุโรป ซึ่งปัจจุบันกรอบความสัมพันธ์และความร่วมมือขยายตัวและมีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น การเสวนาในวันนี้จึงเป็นเสมือนลายแทง เพื่อให้เห็นถึงความต้องการของทุกภาคส่วน จากนั้นเราจะรวบรวมข้อมูล ไปสู่การทำแผนดำเนินงาน นำเสนอต่อกลุ่มประเทศยุโรปในสาขาที่ประเทศไทยต้องการ ขณะเดียวกันก็จะแสวงหาธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องเพื่อสนับสนุนให้เกิดการลงทุนร่วมกัน โดยผ่านกลไกการทูตไทยในแต่ละประเทศ

ด้านดร.อัครวิทย์ กาญจนโอภาษ ซีอีโอเมืองนวัตกรรมอาหาร กล่าวว่า อุตสาหกรรมอาหารเป็นหนึ่งที่ได้รับการยอมรับจากกลุ่มประเทศแถบยุโรป โครงการเมืองนวัตกรรมอาหารจึงได้แสวงหาความร่วมมือกับเครือข่ายต่างประเทศที่มีศักยภาพเพื่อดึงผู้ประกอบการจากต่างประเทศมาลงทุนในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น  โดยเมื่อปีที่ผ่านมา ทีมงานฟู้ดอินโนโพลิส ได้มีโอกาสไปเยี่ยมเยือนประเทศในแถบยุโรป ได้แก่ เดนมาร์ก เบลเยี่ยม เยอรมัน สวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งถือเป็นประเทศที่มีเครือข่ายนวัตกรรมอาหารที่เข้มแข็ง อีกทั้งยังเป็นหัวเชื้อในการเชื่อมโยงมาสู่ความร่วมมือกันในอนาคต ทั้งในแง่ของการดึงผู้ประกอบการจากยุโรปเข้ามาในไทย และช่องทางที่ผู้ประกอบการไทยจะร่วมมือกับผู้ประกอบการจากยุโรป โดยมีเมืองนวัตกรรมอาหารของไทยทำหน้าที่ให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ อาทิ การอัพเดทกฎระเบียบ ข้อบังคับ แนวโน้มความต้องการด้านอาหารในตลาดยุโรป  ตลอดจนความเคลื่อนไหวการส่งเสริมนวัตกรรมอาหารของกลุ่มประเทศยุโรป เพื่อเป็นแนวทางในการปรับตัวของผู้ประกอบการที่ต้องการมีความร่วมมือกันในอนาคต 
 


 

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการเสวนาครั้งนี้ มีการแบ่งเป็นกลุ่มย่อยของแต่ละสาขาทั้งอาหาร ยา พลังงาน และเคมีชีวภาพ ซึ่งโดยส่วนใหญ่ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ เอกชน มหาวิทยาลัย ผู้ประกอบการสตาร์ทอัพในสาขาต่าง ๆ นั้น สะท้อนปัญหาที่ตรงกันคือ ขั้นตอนของการขึ้นทะเบียนในประเทศไทย รวมถึงการศึกษากฎระเบียบและจารีตประเพณีของประเทศในกลุ่มยุโรป อเมริกา และเอเชีย ที่มีความหลากหลายและแตกต่างกันออกไป อย่างไรก็ตามบริษัทไทยยูเนียนกรุ๊ป บริษัทอาหารชั้นนำสัญชาติไทย ก็ได้ขยายตลาดอาหารทะเล สามารถส่วนแบ่งตลาดในยุโรปหลายประเทศได้เป็นอันดับหนึ่ง