สวทน. ร่วมกับ Innovate UK สร้างผู้นำด้านการพัฒนาและบริหารนโยบายนวัตกรรม

7 กุมภาพันธ์ 2561  


ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ เลขาธิการ สวทน. และ ดร.กาญจนา วานิชกร ผู้ช่วยเลขาธิการ สวทน. พร้อมด้วยผู้บริหารหน่วยงานกำหนดนโยบายและส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรม ได้แก่ ดร.ปัทมา เธียรวิศิษฎ์สกุล รองเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ดร.ฐิตาภา สมิตินนท์ รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ดร.ศรพล ตุลยะเสถียร ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ดร.วีระภัทร์ ตันตยาคม สำนักงานเพื่อการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และคุณศุธาศินี สมิตร สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เข้าร่วมการฝึกอบรมโครงการ Global Innovation Policy Accelerator (GIPA) ครั้งที่ 1 ร่วมกับผู้บริหารจากประเทศในภูมิภาคอาเซียน ณ กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร  โดย GIPA เป็นโครงการความร่วมมือระหว่าง สวทน. และ Innovate UK ซึ่งเป็นหน่วยงานภาครัฐที่ส่งเสริมการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยทำหน้าที่เชื่อมโยงระหว่างผู้คิดค้นนวัตกรรมกับภาคเอกชนและสถาบันการศึกษาในการพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ ให้เกิดผลเป็นรูปธรรม

โครงการ GIPA ดำเนินการภายใต้กองทุน UK - Thailand Newton Research and Innovation Partnership โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างผู้นำด้านการพัฒนาและบริหารนโยบายนวัตกรรม (Innovation Policy Entrepreneur) โดยนำแนวคิดของการสร้างธุรกิจ startup มาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาต้นแบบนโยบาย (policy prototype) ที่สามารถขับเคลื่อนในทางปฏิบัติได้จริง โดยหลักสูตร GIPA มีการฝึกอบรม ณ สหราชอาณาจักร จำนวน 2 ครั้ง และทาง NESTA ผู้ดำเนินโครงการจะจัดหาที่ปรึกษาโครงการ (mentor) และโค้ช (coach) จากหน่วยงานนวัตกรรมชั้นนำของสหราชอาณาจักร อาทิ Innovate UK, University of Manchester, Oxentia, 100%Open และ Uscreates เพื่อให้คำแนะนำผู้เข้าร่วมโครงการตลอดระยะเวลา 9 เดือน ของหลักสูตร ในการพัฒนา policy prototype โดยมี UNDP เป็นหน่วยงานสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมในประเทศไทย


สำหรับการฝึกอบรม ณ สหราชอาณาจักร ครั้งที่ 1 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 29 ม.ค. ถึง 2 ก.พ. 2561 ซึ่งเน้นการฝึกอบรมกระบวนการจัดทำนโยบาย โดยมีเนื้อหาสำคัญ อาทิ การออกแบบแนวคิด (design thinking) การคาดการณ์อนาคต (policy foresight) การวิเคราะห์ข้อมูลและการประเมินผลข้อมูล (data evidence and evaluation) เทคนิคการสื่อสารนโยบาย (policy pitching) รวมถึง Project Manifesto ซึ่งถือเป็นกระบวนการออกแบบนโยบายที่เน้นการมีส่วนร่วมและคำนึงถึงมุมมองจากภาคส่วนต่างๆ ผ่านการตั้งคำถาม Why, Who, What, How, Where and When และหลักการ Two-Diamond Models (Discover, Define, Develop and Deliver) ที่ทำให้กระบวนการกำหนดนโยบายเป็นไปตามขั้นตอนและครบถ้วนมากขึ้น นอกจากนี้ ได้เข้าเยี่ยมชม Policy Lab ซึ่งเป็นหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นในปี 2014 ภายใต้ The UK Cabinet Office ตามนโยบายปฏิรูประบบราชการของสหราชอาณาจักร ทำหน้าที่ให้บริการด้านกระบวนการจัดทำนโยบายให้แก่หน่วยงานของรัฐ และเป็นคลังสมองในการสร้างเครื่องมือใหม่ๆ เพื่อสนับสนุนการพัฒนานโยบายนวัตกรรม ซึ่งทีมผู้บริหารจากประเทศไทยได้แลกเปลี่ยนแนวคิดและหารือความร่วมมือกับผู้บริหาร Policy Lab เพื่อนำประสบการณ์การดำเนินงานมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทยต่อไป


ทั้งนี้ ในวันพุธที่ 31 ม.ค. 2561 ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ พร้อมด้วยทีมผู้บริหาร ได้มีโอกาสเข้าเยี่ยมคารวะเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงลอนดอน (นายพิษณุ สุวรรณะชฎ) เพื่อหารือแลกเปลี่ยนความเห็นด้านการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมถึงความร่วมมือกับกระทรวงการต่างประเทศและสถานทูตไทย ณ กรุงลอนดอน เพื่อประชาสัมพันธ์โครงการและนโยบายด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ของไทย อาทิ โครงการ Food Innopolis, Talent Mobility และ EECi เป็นต้น