สวทน. ร่วมมือ อย. ปลดล็อคขั้นตอนขึ้นทะเบียนอาหาร

23 พฤศจิกายน 2560  

 

ดร.อัครวิทย์ กาญจนโอภาษ รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) ในฐานะซีอีโอเมืองนวัตกรรมอาหาร หรือ ฟู้ดอินโนโพลิส กล่าวว่า การขับเคลื่อนการวิจัยพัฒนาและนวัตกรรมอาหารให้ประสบความสำเร็จได้นั้น ระบบการขออนุญาตด้านอาหารในระดับอุตสาหกรรมถือเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดประการหนึ่ง เนื่องจากมีความสำคัญต่อการวางจำหน่ายผลิตภัณฑ์นวัตกรรมอาหารสู่ตลาดในเชิงพาณิชย์ได้อยากถูกต้องตามกฎหมายและมีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค ซึ่งในอดีตที่ผ่านมา ผู้ประกอบการยังพบกับอุปสรรคในกระบวนการและขั้นตอนการขออนุญาตผลิตภัณฑ์อาหาร ทั้งนี้ เนื่องจากการขออนุญาตด้านอาหารในระดับอุตสาหกรรมมีหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการประเมินหลักฐานทางวิชาการเพื่อประกอบการพิจารณาด้านความปลอดภัยอาหาร รวมถึงต้องเป็นไปตามข้อกำหนดด้านมาตรฐานผลิตภัณฑ์ และสถานที่ผลิตอาหารที่กฎหมายกำหนด การพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารด้วยนวัตกรรม จึงจำเป็นต้องให้ผู้ประกอบการและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องมีความเข้าใจหลักเกณฑ์ดังกล่าวให้ชัดเจน สามารถนำไปปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง เพื่อให้ผลิตภัณฑ์มีคุณภาพสอดคล้องกับบริบทของประเทศไทยและสากล   

ซีอีโอเมืองนวัตกรรมอาหาร กล่าวว่า เพื่อให้การดำเนินการขับเคลื่อนเมืองนวัตกรรมอาหารเกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุด สวทน. จึงร่วมกับสมาคมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทางอาหารแห่งประเทศไทย (FoSTAT) ดำเนินโครงการพัฒนาขีดความสามารถบุคลากรและกลไกสนับสนุนนวัตกรรมอาหารของประเทศ โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อพัฒนากลไกสนับสนุนระบบหลักเกณฑ์และวิธีการขออนุญาตผลิตภัณฑ์อาหาร ซึ่งจะส่งผลให้ผู้ประกอบการนำผลิตภัณฑ์นวัตกรรมอาหารออกสู่ตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยการผลักดันให้เกิดการปฏิรูประบบการสื่อสารข้อมูลและสร้างความเข้าใจในระบบการพิจารณาอนุญาตผลิตภัณฑ์อาหาร ให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในระบบการวิจัยพัฒนาและนวัตกรรมอาหาร อาทิ ผู้ประกอบการ นักวิจัย หน่วยงานที่ให้ทุนวิจัย และผู้บริโภคทั่วไป ตลอดจนการพัฒนาองค์ความรู้ที่จะถ่ายทอดจากข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ไปสู่การบูรณาการทุกภาคส่วน เพื่อช่วยให้เกิดประสิทธิภาพในกลไกและกระบวนการวิจัยพัฒนาและนวัตกรรมอาหาร

จากนี้ไปการยื่นขอและการอนุญาตผลิตสำหรับผลิตภัณฑ์นวัตกรรมอาหารสู่ตลาดในเชิงพาณิชย์ได้เร็วยิ่งขึ้น ดังเช่น ในกรณีการเตรียมข้อมูลผลิตภัณฑ์เพื่อยื่นขออนุญาตกล่าวอ้างทางโภชนาการและสุขภาพของผู้ผลิตอาหาร หากสามารถปฏิบัติได้ตรงตามหลักเกณฑ์ที่ภาครัฐกำหนด จะสามารถลดระยะเวลาการขออนุญาตได้ส่วนหนึ่ง และสื่อสารข้อมูลผลิตภัณฑ์กับผู้บริโภคได้อย่างถูกต้องและชัดเจน นอกจากนี้จะจัดให้มีการพัฒนาทักษะและขีดความสามารถของนักวิชาการที่จะสามารถเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายและการประเมินคำร้องขออนุมัติและสร้างฐานข้อมูลบุคลากรที่เป็นผู้เชี่ยวชาญในการพิจารณาหลักฐานการขออนุญาตให้เพียงพอต่อความต้องการของประเทศ ตลอดจนการสร้างความร่วมมือกับ อย. ในด้านการศึกษาวิเคราะห์แนวทางการประเมินและการอนุญาตผลิตภัณฑ์อาหาร เพื่อปรับเกณฑ์การอนุญาตของไทยให้สอดคล้องกับมาตรฐานนานาชาติต่อไป” ดร.อัครวิทย์ กล่าว