ปักหมุดไทยเป็นศูนย์กลางเครือข่ายวิจัยพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารในระดับอาเซียน

14 พฤศจิกายน 2560  









พลาซ่าแอทธินี / ระหว่างวันที่ 14 - 15 พฤศจิกายน 2560 สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) โดย โครงการเมืองนวัตกรรมอาหาร หรือ ฟู้ดอินโนโพลิส สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) สถาบันวิจัยฟรอนโฮเฟอร์ ประเทศเยอรมนี และ บริษัท สตราทีจิคอินเตอร์คอม ร่วมกันจัดการประชุมสมัชชานวัตกรรมทางธุรกิจในภูมิภาคเอเชีย - ยุโรป" ครั้งที่ 5 (5th ASIAN-EUROPEAN BUSINESS INNOVATION CONGRESS) และนำผู้เข้าร่วมประชุมเยี่ยมชมเมืองนวัตกรรมอาหาร ภายในอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย

ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ เลขาธิการ สวทน. กล่าวว่า รัฐบาลมีนโยบายที่จะผลักดันให้ประเทศไทยไปสู่เศรษฐกิจที่ใช้นวัตกรรมเป็นฐาน หรือ ไทยแลนด์ 4.0 โดยต้องเพิ่มทักษะให้กับทรัพยากรบุคคล ตลอดจนผู้ประกอบการให้เป็น smart entrepreneur or smart SMEs นอกจากนี้รัฐบาลยังได้พยายามปรับเปลียนกฎหมายเพื่อให้ทันต่อกระแสโลก ซึ่งเอื้อประโยชน์ต่อหลายโครงการรวมถึง เมืองนวัตกรรมอาหาร ซึ่งเกิดจากการปรับเปลี่ยนกระบวนการทางความคิดของทั้งภาครัฐและเอกชน

ขณะที่วิทยากรจากภาคเอกชนได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์และมุมมองอย่างน่าสนใจ โดย มร.อเล็กซานเดอร์ ซามูเอล หัวหน้างานด้านอาหารและเครื่องดื่มในอาเซียน บริษัทซีเมนส์ ประเทศสิงคโปร์ กล่าวว่า อุตสาหกรรมอาหารมีการปรับเปลี่ยนมาอย่างต่อเนื่อง และในยุคนี้เป็นยุคที่ดิจิทัลเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวัน สามารถนำมาพัฒนาผลิตภัณฑ์กระบวนการขั้นตอนในการผลิตอาหารและเครื่องดื่มให้มีความหลากหลาย สามารถแข่งขันได้มากขึ้น ทั้งในเรื่องของการออกแบบส่วนผสม จนถึงภาชนะบรรจุ และการออกแบบให้ตรงตามความต้องการของแต่ผู้บริโภคแต่ละบุคคล เช่น สามารถตอบได้ว่าส่วนผสมในอาหารทำมาจากอะไร 

มร.แมทธิว ก็อตเฟรย์ จากบริษัทนิวทริเชียล อินโนเวชั่น ฟู้ด กล่าวว่า ปัจจุบันผู้บริโภคต้องการความเป็นธรรมชาติของผลิตภัณฑ์มากขึ้น การวิจัยหลายชิ้นพบว่า คนส่วนใหญ่เป็นโรคและสุขภาพไม่ดีส่วนหนึ่งเกิดจากการบริโภคเนื้อสัตว์ การบริโภค เกลือ น้ำตาล ไขมัน เกินความจำเป็น จึงทำให้เกิดกระแสการกินผักและการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมอาหารโดยลดปริมาณน้ำตาล เกลือ ไขมัน ในอาหารลง ผู้ประกอบการด้านอาหารก็ต้องปรับเปลี่ยนการผลิตให้ตรงตามความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป ทั้งนี้ในส่วนของบริษัทฯ เองได้เปิดสถาบันวิจัยรสชาติอาหารขึ้นเพื่อตอบโจทย์เอสเอ็มอี ที่ไม่สามารถจัดการปัญหาเองได้ทั้งหมด

ด้าน ซินดี้ อู ผุ้อำนวยการภูมิภาคด้านกฎหมายและวิทยาศาสตร์ บริษัทดูปองท์ กล่าวว่า กล่าวว่า ในอุตสาหกรรมอาหาร ผู้ประกอบการต้องมีจิตสำนึกในการใช้วัตถุดิบและส่วนผสมในอาหาร ในส่วนของบริษัทดูปองท์เองมีส่วนของ อาหารปลอดภัย มีการจัดโปรแกรมฝึกอบรมด้านอาหารปลอดภัยเพื่อสร้างความตระหนักให้เข้าไปอยู่ในจิตสำนึก

ดร.อัครวิทย์ กาญจนโอภาษ ซีอีโอเมืองนวัตกรรมอาหาร กล่าวว่า ประเทศไทยต้องเผชิญกับปัญหาเช่น ค่าแรงที่เพิ่มมากขึ้น การเพิ่มขึ้นของผู้สูงอายุ ความต้องการอาหารของต่างชาติ เช่น ยุโรป ทำให้ไทยต้องเจอกับปัญหามาตรฐานการส่งออก การสร้างเมืองนวัตกรรมอาหารขึ้นมา วัตถุประสงค์หนึ่งคือ เพื่อการทำให้ผู้ประกอบการไทยนั้นยังคงสามารถแข่งขันได้ในเวทีระดับโลก สามารถทำให้การผลิตภัณฑ์อาหารตอบโจทย์เฉพาะกลุ่มได้มากขึ้น ขณะเดียวกันก็ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดโลกได้ด้วย และสิ่งที่ต้องพัฒนาไปพร้อม ๆ กันคือ บุคลากรทางด้านอาหารที่มีความสามารถสูง นอกจากนี้โครงสร้างพื้นฐานที่สามารถเป็นฐานรากให้เกิดนวัตกรรมในอุตสาหกรรมอาหารก็นับเป็นสิ่งสำคัญ เมืองนวัตกรรมอาหารจึงเลือกอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทยเป็นที่จัดตั้ง เนื่องจากมีความพร้อม และในอนาคตอันใกล้ก็จะขยายไปสู่ภูมิภาคทั่วประเทศ เพื่อตอกย้ำความเป็นศูนย์กลางด้านนวัตกรรมอาหารของภูมิภาคอาเซียน และผลจากการที่ประเทศไทยได้รับเลือกให้จัดประชุมการพัฒนาธุรกิจนวัตกรรมอาหารในครั้งนี้ ก็เป็นการปักหมุดความเป็น ศูนย์กลางเครือข่ายวิจัยพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารในระดับอาเซียน 

ทั้งนี้ การจัดงานประชุมของสมัชชานวัตกรรมทางธุรกิจในภูมิภาคเอเซีย-ยุโรป นั้น ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนจัดไปในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก โดยมีหน่วยงานหลักคือ บริษัท สตราทีจิคอินเตอร์คอม  ซึ่งเป็นเครือข่ายบริษัทระดับนานาชาติที่สนับสนุนและมุ่งเน้นในการพัฒนากลยุทธ์การบริหารธุรกิจนวัตกรรมสำหรับกลุ่มผู้บริหารและผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง และในคราวนี้ ได้เลือกหัวข้อการพัฒนาธุรกิจนวัตกรรมในอุตสาหกรรมอาหาร และเห็นว่าประเทศไทยมีศักยภาพและความเหมาะสมกับหัวข้อดังกล่าว เนื่องจากมีจุดแข็งทางด้านการพัฒนานวัตกรรมอาหารมากที่สุดแห่งหนึ่งในภูมิภาคอาเซียน

การจัดงานดังกล่าว นอกจากเป็นเวทีถ่ายทอดและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้จากต่างประเทศเกี่ยวกับการพัฒนานวัตกรรมสินค้าและบริการในอุตสาหกรรมอาหารแล้ว ยังเป็นการเปิดโอกาสในการสร้างเครือข่ายธุรกิจเทคโนโลยีและการวิจัยพัฒนาสำหรับผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอาหาร เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ รวมทั้งเพื่อส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นอีกหนึ่งศูนย์กลางด้านนวัตกรรมอาหารของภูมิภาคอาเซียน 

นอกจากนี้ ผู้เข้าร่วมประชุม ได้เยี่ยมชมเมืองนวัตกรรมอาหารโดย ซีอีโอเมืองนวัตกรรมอาหาร ดร.อัครวิทย์ กายจนโอภาษ ได้สรุปภาพรวมความพร้อมทางด้านโครงสร้างพื้นฐานและบริการของเมืองนวัตกรรมอาหารที่จะให้การสนับสนุนกับผู้ประกอบการอาหารทั้งในและต่างประเทศ