สวทน. ลุยเดินหน้า “สะเต็ม แล็บ” ปีที่ 2 ขยายผลพัฒนาศักยภาพและสร้างสรรค์นวัตกรรมของเด็กวัยเรียน กว่า 5,000 ราย ตอบโจทย์ปัญหากำลังคนขับเคลื่อนนวัตกรรม

13 พฤศจิกายน 2560  






สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) เดินหน้าโครงการ “สะเต็ม แล็บ” (STEM LAB) ต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 หลังนำร่อง 2 โรงเรียนในปีแรกประสบความสำเร็จ จัดงบ 4.5 ล้าน ขยายผลเพิ่มอีก 5 โรงเรียน พร้อมจัดทำหลักสูตร สะเต็ม แล็บ และแนวทางสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้นักเรียนในโรงเรียนเป้าหมาย คาดมีนักเรียนได้รับประโยชน๋ในปีการศึกษาแรกกว่า 5,000 ราย
 
กิติพงค์ พร้อมวงค์ เลขาธิการ สวทน. เปิดเผยว่า ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่ยุคขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรม หรือ ไทยแลนด์ 4.0 ซึ่งจะมุ่งเน้นการสร้างนวัตกรรมที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงกว่าการทำอุตสาหกรรมเชิงปริมาณในอดีตเป็นอย่างมาก และจะนำพาประเทศไทยให้หลุดจากประเทศกับดักรายได้ปานกลางได้ในที่สุด อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันยังคงขาดบุคลากรที่มีความสามารถทั้งในเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพในการขับเคลื่อนการพัฒนานวัตกรรมเป็นอย่างมาก ซึ่งถือเป็นอุปสรรคสำคัญที่ต้องเร่งแก้ไขโดยการส่งเสริมทางด้านการศึกษาที่ต้องมีการปรับรูปแบบให้สอดคล้องกับแนวโน้มของเทคโนโลยีและพฤติกรรมของนักเรียนที่เปลี่ยนแปลงไป กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดย สวทน. จึงได้ดำเนินโครงการพัฒนาศักยภาพและสร้างสรรค์นวัตกรรมของเด็กวัยเรียน หรือ สะเต็ม แล็บ (STEM LAB) ขึ้น โดยเน้นการพัฒนาความคิดด้านเทคโนโลยี นวัตกรรม และกระบวนการทางวิศวกรรมศาสตร์ ผ่านห้องปฏิบัติการ สะเต็ม แล็บ (STEM Lab) ซึ่งเป็นรูปแบบห้องปฏิบัติการ ที่ผู้เรียนสามารถสร้างชิ้นงานได้อย่างเป็นรูปธรรม ต่างจากแล็บทั่วไปที่เน้นเพียงการทดลอง และสังเกต เท่านั้น 

“สะเต็ม แล็บ ตั้งขึ้นครั้งแรกเมื่อช่วงเดือนตุลาคม 2559 โดย สวทน. ได้เชิญผู้เชี่ยวชาญ และที่ปรึกษาเฉพาะด้านมาช่วยออกแบบเครื่องมือที่เหมาะสมแก่เด็กวัยเรียนระดับมัธยมศึกษาในการสร้างสรรค์นวัตกรรม โดยในสะเต็ม แล็บ ประกอบไปด้วยเครื่องมือในการส่งเสริมการสร้างชิ้นงานนวัตกรรมมากมาย อาทิ เครื่องตัดเลเซอร์ขนาดใหญ่ เครื่องพิมพ์สามมิติ เครื่องมือวัดประจำแล็บ เครื่องมือประกอบวงจรอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงเครื่องมือช่าง และอุปกรณ์เพื่อความปลอดภัย นอกจากนี้ยังจัดให้มีวิศวกรประจำแล็บ ทำหน้าที่ให้คำแนะนำ ดูแลการใช้งาน รวมถึงความปลอดภัยในการใช้เครื่องมือ พร้อมจัดอบรมให้กับครูผู้สอนทั้งโรงเรียนเกี่ยวกับการใช้งานสะเต็ม แล็บ โดยในปีแรก สวทน. ได้ร่วมกับาทำหน้าที่ให้คำแนะนำ ดูแลการใช้งาน รวมถึงดน รวมถึงรวมรวม 2 โรงเรียน คือ โรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย จ.ปทุมธานี และ โรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย จ.ชลบุรี ซึ่งเป็นโรงเรียนสายพื้นฐานวิทยาศาสตร์ มาเป็นโรงเรียนนำร่องการตั้งห้องปฏิบัติการ สะเต็ม แล็บ ต้นแบบ ซึ่งเป็นห้องปฏิบัติการที่เน้นส่งเสริมการสร้างนวัตกรรมในโรงเรียน โดยมีเครื่องมือชนิดพิเศษที่ทันสมัย ด้วยการใช้คอมพิวเตอร์ออกแบบและสร้างชิ้นงานอย่างอัตโนมัติที่สามารถทำลายข้อจำกัดของโครงงานที่เคยยากเกินไป ให้สามารถทำได้ง่ายและรวดเร็ว ส่งผลให้การดำเนินงานตลอด 1 ปีที่ผ่านมา สะเต็ม แล็บ ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก มีนักเรียนเข้าไปเรียนรู้และใช้เครื่องมือ 150 คนต่อวัน และเกิดโครงงานจากฝีมือเด็กนักเรียนกว่า 20 โครงงาน อาทิ โครงงานอากาศยานไร้คนขับขนาดเล็ก  (Unmanned Aerial Vehicle: UAV) โครงงานยานสำรวจใต้น้า ROV (Remotely Operated underwater Vehicle) โครงงานการออกแบบและพัฒนาอุปกรณ์วัดและวิเคราะห์การลงน้ำหนักเท้าในการวิ่งสำหรับนักวิ่งเพื่อสุขภาพ (Running health) โครงงานการออกแบบและพัฒนาวงจรไฟเลี้ยวอัตโนมัติสำหรับจักรยาน (Smart Bicycle) เป็นต้น ซึ่ง สวทน. ยังได้สนับสนุนให้เด็กนักเรียนสร้างสรรค์ผลงานอย่างเป็นรูปธรรม ผ่านการมอบทุนเพื่อสร้างชิ้นงานให้กับโครงงานที่ผ่านการคัดเลือกด้วย” เลขาธิการ สวทน. กล่าว
 
เลขาธิการ สวทน. ยังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ในปีงบประมาณ 2561 สวทน. ยังคงเดินหน้าโครงการ สะเต็ม แล็บ อย่างต่อเนื่อง โดยการขยายผลตั้งสะเต็ม แล็บ เพิ่มอีก 5 โรงเรียน คือ โรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย จ.มุกดาหาร โรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย จ.บุรีรัมย์ โรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย จ.เลย โรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย จ.ลพบุรี และโรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย จ.เพชรบุรี และยังเพิ่มเครื่องมือที่ทันสมัยในห้องปฏิบัติการ สะเต็ม แล็บ อาทิ กล้องถ่ายภาพความร้อน เทอร์โมมิเตอร์อินฟราเรด เครื่องวัดความดังเสียง เครื่องวัดความเร็วลม เป็นต้น พร้อมจัดทำหลักสูตรการเรียนผ่านห้องปฏิบัติการ สะเต็ม แล็บ ซึ่งเป็นหลักสูตรเพิ่มเติมหรือเชื่อมโยงจากหลักสูตรที่โรงเรียนมีอยู่เดิมเพื่อให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม รวมถึงจะดำเนินการรทำนวัตกรรมนำร่องในโรงเรียนที่มี สะเต็ม แล็บ อยู่แล้ว ผ่านการร่วมกันสร้างโครงงานต่างๆ อาทิ โครงงานอวกาศในโรงเรียน โครงการหุ่นยนต์มนุษย์จำลองขนาดเท่าจริง เป็นต้น เพื่อเป็นการพิสูจน์ศักยภาพของโรงเรียนหลังจากที่ได้ติดตั้ง สะเต็ม แล็บ แล้ว ทั้งนี้ การขยายผล สะเต็ม แล็บ ในปีงบประมาณ 2561 จะใช้งบประมาณการดำเนินงานทั้งสิ้น 4.5 ล้านบาท ซึ่งจะมีการลงนามความร่วมมือภายใต้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการพัฒนาศักยภาพและสร้างสรรค์นวัตกรรมของเด็กวัยเรียนกับโรงเรียนเป้าหมายที่ขยายผลในช่วงเดือนธันวาคม 2560 นี้ อย่างไรก็ตาม จากการดำเนินงานขยายผลสะเต็ม แล็บครั้งนี้ จะมีนักเรียนได้รับประโยชน๋ในปีการศึกษาแรกกว่า 5,000 ราย และเชื่อว่าโครงการสะเต็ม แล็บ จะช่วยให้เกิดการพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนที่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยี อันจะนำไปสู่การสร้างกำลังคนที่มีศักยภาพ เพื่อร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมต่อไป