สวทน. จับมือ ม.มหิดล และหน่วยงานพันธมิตรจากญี่ปุ่น ถอดบทเรียนยุทธศาสตร์นวัตกรรมแดนปลาดิบ สู่การประยุกต์ใช้ในประเทศไทย

6 ตุลาคม 2560  





เมื่อวันศุกร์ที่ 6 ตุลาคม 2560 ดร.กิตติพงค์ พร้อมวงค์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (สวทน.) และ นายฮิโรคิ มิทสึมะตะ ประธานเจโทร สำนักงานกรงุเทพฯ พร้อมคณะผู้บริหารทั้ง 2 ฝ่าย และผู้เข้าร่วมจากทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการวิจัยและภาคการศึกษา ร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการ “Japan Innovation Strategies: A Model to Encourage R&D Investment and Innovation Efforts in Thailand" ถอดบทเรียนยุทธศาสตร์ด้านนวัตกรรมของประเทศญี่ปุ่น เพื่อหารือแนวทางในการกำหนดนโยบายด้านการส่งเสริมการลงทุนด้านวิจัยและพัฒนา และมองหาโอกาสการสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศไทยและญี่ปุ่น
 
การประชุมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ จัดโดย สวทน. ร่วมกับ มหาวิทยาลัยมหิดล และหน่วยงานพันธมิตรจากภาครัฐและภาคการศึกษาของประเทศญี่ปุ่น ได้แก่ National Graduate Institutes for Policy Studies (GRIPS) Japan, Ministry of Trade and Industry (METI) Japan, และ Japan International Cooperation Agency (JICA) ณ สำนักงาน สวทน. ห้องหว้ากอ 1 อาคาร จัตุรัสจามจุรี ชั้น 14 กรุงเทพฯ
 
สวทน. ได้เข้าร่วมโครงการ ASEAN Japan Strategic Policy Research & Innovation Program (SPRI Program) ของ JICA ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2558 ซึ่งโครงการดังกล่าวเป็นโครงการที่เปิดโอกาสให้บุคลากรจากประเทศในอาเซียนที่เป็นผู้วางแผนหรือนโยบายได้มีโอกาสทำการวิจัยร่วมกับประเทศญี่ปุ่นเพื่อให้มีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาในภูมิภาคอาเซียน โดย สวทน. ได้ส่งนักวิจัย คือ ดร.เพียงเพ็ญ วงศ์นภาพรรณ เข้าร่วมโครงการดังกล่าวเพื่อวิจัยแผนยุทธศาสตร์ด้านนวัตกรรมของประเทศญี่ปุ่น และวิธีการสร้างและพัฒนาสภาพแวดล้อมที่สนับสนุนด้านการพัฒนานวัตกรรมมาประยุกต์ใช้ในประเทศไทย เพื่อดึงดูดการลงทุนจากบริษัทญี่ปุ่นมายังประเทศไทย การประชุมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ได้มีการนำเสนอความก้าวหน้าการวิจัยยุทธศาสตร์ด้านนวัตกรรมของประเทศญี่ปุ่น ผ่านการนำเสนอสถานการณ์ และปัญหาด้านการพัฒนานวัตกรรมในญี่ปุ่น ตัวชี้วัดการสนับสนุนนวัตกรรมในญี่ปุ่น และความพยายามของบริษัทและมหาวิทยาลัยในด้านนวัตกรรม และยังมีการหารือถึงแนวนโยบายด้านการส่งเสริมการลงทุนด้านวิจัยและพัฒนา รวมถึงการหาโอกาสสร้างความร่วมมือด้านการพัฒนาข้อเสนอแนะเชิงนโยบายทั้งด้านการพัฒนานวัตกรรมและการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน เพื่อส่งเสริมการสร้างนวัตกรรมของผู้ประกอบการของทั้ง 2 ประเทศ นอกจากนี้ ยังมีการอภิปรายเกี่ยวกับข้อเสนอแนะเชิงนโยบายที่มุ่งเน้นการยกระดับห่วงโซ่คุณค่าในอุตสาหกรรมยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศไทยด้วย
 
ทั้งนี้ จากการผลการศึกษาของทีมวิจัย นำโดย ดร.เพียงเพ็ญ พบว่า การที่บริษัทใดบริษัทหนึ่งจะสามารถสร้างนวัตกรรมได้นั้นจำเป็นต้องอาศัยระยะเวลาการดำเนินการที่นานพอ หลายบริษัทในญี่ปุ่นจึงมีแนวความคิดใหม่ที่จะมีการแลกเปลี่ยนความคิดและการทำงานด้านการพัฒนานวัตกรรมร่วมกับหน่วยงาน หรือองค์กรภายนอก (open innovation) โดยบริษัทญี่ปุ่นจำนวนมากได้นำแนวความคิดด้าน open innovation นี้ไปปรับใช้ร่วมกับวิธีการพัฒนานวัตกรรมภายในองค์กรแบบเดิม หรือ in-house innovation ซึ่งบริษัทมองว่าเป็นวิธีที่จะเอาชนะข้อจำกัดของวิธีการเดิมในการสร้างนวัตกรรม เพื่อสร้างมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์และบริการได้ เช่น แผนก R&D ของบริษัทผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่หลายแห่งได้ใช้ open innovation เพื่อลดขั้นตอนและเพิ่มศักยภาพของการวิจัยและพัฒนา เป็นต้น ส่วนการพัฒนาบุคลากรก็มีความจำเป็นที่จะต้องมีการออกแบบ ปรับระบบการสร้างและพัฒนากำลังคนให้เหมาะสมกับวัฒนธรรมการทำงานของประเทศตัวเอง รวมทั้งควรมีการออกแบบสภาพแวดล้อมเพื่อกระตุ้นให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ อันจะนำไปสู่การสร้างและพัฒนาคนรุ่นใหม่ที่มีศักยภาพและสามารถแข่งขันได้
 
 ด้านแนวทางการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีในประเทศญี่ปุ่น ทางรัฐบาลได้ร่วมกับ สถาบันวิจัย มหาวิทยาลัย และกลุ่มของบริษัทในประเทศญี่ปุ่น ใช้เวลาส่วนใหญ่ในการทำความเข้าใจกับปัญหาอย่างลึกซึ้งเพื่อกำหนดเป้าหมายด้านการพัฒนาเทคโนโลยีร่วมกัน ก่อนที่รัฐบาลจะให้การสนับสนุนการพัฒนาแพลทฟอร์มเพื่อการพัฒนาเทคโนโลยีเฉพาะด้าน โดยมีการกำหนดรายละเอียดของเป้าหมายอย่างชัดเจน ซึ่งส่วนใหญ่จะมีภาคเอกชนเป็นผู้นำกลุ่มในการพัฒนาโครงการ เนื่องจากเป็นผู้ที่ทราบและสามารถตอบสนองความต้องการของตลาดได้ นอกจากนี้ บริษัทผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่หลายรายในญี่ปุ่นได้ใช้วิธีการทำงานร่วมกับ วิสาหกิจเริ่มต้น หรือ Startup เพื่อการสร้างกลยุทธ์ใหม่ในการค้นหาและพัฒนาต้นแบบธุรกิจและนวัตกรรมใหม่ให้กับบริษัทด้วย
 
อย่างไรก็ดี ประเทศไทยไม่สามารถนำรูปแบบการพัฒนาระบบนวัตกรรมของประเทศญี่ปุ่นมาใช้ได้ในทันที เนื่องจากประเทศญี่ปุ่นมีบริบท องค์ประกอบ และปัจจัยแวดล้อมที่สำคัญแตกต่างกับประเทศไทย ดังนั้นจึงควรพิจารณาวิเคราะห์บริบท องค์ประกอบ และปัจจัยแวดล้อมในการทำงานของประเทศญี่ปุ่นกับประเทศไทย และดูว่าสิ่งใดสามารถนำมาประยุกต์ใช้เพื่อพัฒนารูปแบบการดำเนินงานให้เหมาะกับไทยได้ อาทิ การจัดทำระบบการให้ทุนสนับสนุนการทำวิจัยและพัฒนาไปสู่เป้าหมาย การกำหนดรูปแบบการพัฒนากำลังคน การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่สนับสนุนให้เชื่อมโยงกันเป็นระบบ และการสร้างแรงจูงใจ เป็นต้น
 
 
Download เอกสารประกอบ : http://www.sti.or.th/sti/uploads/com_docman_pdf/103_TH.pdf
 
 
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม
สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) 
โทรศัพท์ 02160 5432 # 730 (วรรณพร)
Email: pr@sti.or.th / Website: www.sti.or.th/sti / Facebook: www.facebook/STI-สวทน.