เตรียมคลอด “ดัชนีวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศไทย ปี 2559 – 2560” เครื่องมือชี้วัดระดับความก้าวหน้า พัฒนาการและขีดความสามารถในการแข่งขันด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมของประเทศ

28 กันยายน 2560  




ศูนย์ข้อมูลและการคาดการณ์เทคโนโลยี ภายใต้ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) จัดประชุมคณะอนุกรรมการจัดทำดัชนีวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ ครั้งที่ 1/2560 เมื่อวันอังคารที่ 26 กันยายน 2560 ที่ผ่านมา ณ ห้องประชุมหว้ากอ 2 อาคารจัตุรัสจามจุรี ชั้น 14 เตรียมคลอด “ดัชนีวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศไทย ปี 2559 – 2560” 
 
การประชุมคณะอนุกรรมการจัดทำดัชนีวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ ที่จัดขึ้นครั้งนี้ มีนายภุชพงค์ โนดไธสง ผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ เป็นประธาน พร้อมด้วยคณะอนุกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจาก 14 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร, กรมทรัพย์สินทางปัญญา, สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม, สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย, สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข, สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา, สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา, สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ, สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี, สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ, สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย, ธนาคารแห่งประเทศไทย, สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา โดยมี สวทน. เป็นเลขานุการ คณะอนุกรรมการฯ ดังกล่าวจะเป็นผู้ทำหน้าที่ในการกำหนดกรอบแนวทางการจัดทำตัวชี้วัด ฐานข้อมูล ดัชนีวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศไทยให้เป็นระบบสอดคล้องกับมาตรฐานสากล และมีความเป็นเอกภาพ
 
ที่ประชุมคณะอนุกรรมการฯ ได้เห็นชอบ (ร่าง) ดัชนีวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศไทย ปี 2559 – 2560 ซึ่งศูนย์ข้อมูลฯ ได้นำเสนอ ทั้งนี้ ข้อมูลดัชนีวิทยาศาสตร์ฯ ฉบับดังกล่าวจะประกอบด้วยการนำเสนอเนื้อหาหลัก 2 ส่วน คือ บทความนโยบายเรื่อง “ความสามารถของภาคอุตสาหกรรมการผลิตไทยในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรม”  และ “ดัชนีวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศไทย” ซึ่งประกอบด้วย ความสามารถในการแข่งขันด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) ของประเทศ, งบประมาณด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม, การวิจัยและพัฒนา, บุคลากรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี, สถิติระหว่างประเทศด้านเทคโนโลยี, สิทธิบัตร, ผลงานตีพิมพ์ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมถึงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
 
ดัชนีวิทยาศาสตร์ฯ เป็นเครื่องมือสำคัญในการชี้วัดระดับความก้าวหน้า พัฒนาการและขีดความสามารถในการแข่งขันด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อผู้กำหนดนโยบาย ผู้บริหาร นักวิจัย ตลอดจนประชาชนทั่วไปที่สนใจนำข้อมูลไปใช้ เพื่อเป็นแนวทางในการทำวิจัยและนวัตกรรม พร้อมทั้งกำหนดนโยบายทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศต่อไป โดยจะเตรียมจัดพิมพ์และเผยแพร่เร็วๆ นี้