ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พร้อมด้วย เลขาธิการ สวทน. นำทีมเดินทางเข้าร่วมประชุมหารือความร่วมมือหน่วยงานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ของสหรัฐอเมริกา

25 กันยายน 2560  



เมื่อวันเสาร์ที่ 16 กันยายน 2560 ที่ผ่านมา ณ สหรัฐอเมริกา รศ.นพ.สรนิต ศิลธรรม ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พร้อมด้วย ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) นำทีมคณะทำงานเดินทางเข้าร่วมประชุมหารือความร่วมมือหน่วยงานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ของสหรัฐอเมริกา เพื่อสานต่อความร่วมมือด้านการศึกษาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  หรือ Science and Technology Agreement (STA) ฉบับเดิม โดยการมาเยือนครั้งนี้ คณะได้มีโอกาสเข้าเยี่ยมชมมหาวิทยาลัยรัฐเวอร์จิเนีย (Virginia Polytechnic Institute and State University) หรือเรียกย่อว่า เวอร์จิเนียเทค (Virginia Tech) เพื่อพบปะพูดคุยกับนักวิจัยไทยในสหรัฐฯ ที่มีความสามารถและศักยภาพเป็นที่ยอมรับในระดับโลก ในการนี้ ยังได้มีโอกาสเข้าพบ รศ.ดร.มาณิศา พิพัฒนสมพร อาจารย์ของมหาวิทยาลัย Virginia Tech และ ดร.ก้องภพ อยู่เย็น นักวิจัยผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรม ซึ่งเป็นวิศวกรไทยที่ทำงานและอยู่ฝ่ายวิจัยด้านวิศวกรรมในศูนย์การบินอวกาศก็อดดาร์ด (Gaddard Space Flight Center) ขององค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ (NASA) ด้วย

สำหรับ รศ.ดร.มาณิศา นอกจากดำรงตำแหน่งอาจารย์ของมหาวิทยาลัย Virginia Tech แล้ว ท่านยังเป็นถึงผู้บริหารตำแหน่ง Chief Technology Officer (CTO) ของบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง โดยงานวิจัยชิ้นเด่นที่ของท่านที่ได้ทำการวิจัยเสร็จสิ้นแล้วสามารถนำไปต่อยอดเชิงพาณิชย์ได้ คือ ซอฟแวร์ระบบการจัดการไฟฟ้าในอาคารอัจฉริยะ (BEMOSS: Building Energy Management Open-Source Software) ซึ่งเป็นงานวิจัยร่วมกับกระทรวงพลังงาน (DOE: Departmentof Energy) นอกจากนี้ ซอฟแวร์และงานวิจัยชิ้นนี้รัฐบาลสหรัฐฯ ได้เปิดให้ใช้ฟรี โดยสามารถติดตั้งอุปกรณ์ได้ง่าย อุปกรณ์เพิ่มเติมราคาไม่แพง และมีระบบอัติโนมัติเพื่อสั่งงานระบบไฟฟ้าภายในอาคาร ทำให้ประหยัดไฟฟ้าลดลงจากการลด peak load ซึ่งเป็นการช่วยประหยัดพลังงานให้กับอาคารขนาดเล็กและขนาดกลางที่มีอยู่เป็นจำนวนมากในสหรัฐอเมริกา
             
ด้านงานวิจัยของ ดร.ก้องภพ อยู่เย็น ที่ NASA ก็ได้รับการยอมรับ อาทิ การวิจัยด้านเทคโนโลยีที่ใช้สำหรับกล้องที่ใช้บนอวกาศหรือสร้างอุปกรณ์เครื่องมือที่ทันสมัยเพื่อใช้บนยานอวกาศ โดยจะมีแผนระยะยาวที่สามารถบอกได้อีกว่าอีก 10-20 ปีข้างหน้า ยานอวกาศหรือการสำรวจอวกาศ ต้องการเทคโนโลยีอะไรและจะสำรวจด้านไหน นอกจากนี้ ดร.ก้องภพ ได้นำเสนองานวิจัยส่วนตัวที่เป็นงานอดิเรก นอกเหนือจากการทำงาน คือ การทำระบบติดตามและคาดการณ์ภัยธรรมชาติ รวมถึงระบบเตือนภัยล่วงหน้า ซึ่งอาศัยทฤษฎีควอนตัมและแม่เหล็กไฟฟ้า เพื่อศึกษาและอธิบายถึงการเปลี่ยนแปลงมวลสารของโลกที่ส่งผลต่อการเกิดภัยธรรมชาติ พร้อมยังได้ทำนายการเรียงตัวของดาว เพื่อเป็นการประเมินและคาดการณ์การเกิดภัยธรรมชาติล่วงหน้าอีกด้วย