สวทน. ลงพื้นที่จังหวัดเชียงราย จัดกิจกรรมค่ายอาสาพัฒนา Digital Media Challenge ส่งเสริมการใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว

12 กุมภาพันธ์ 2560  

 


เพราะความรู้ในทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม สามารถนำมาต่อยอดได้ในหลากหลายด้านเสมอ เช่นเดียวกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ที่หากนำเอาเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้ให้ดี ก็จะสร้างประโยชน์ให้กับวงการท่องเที่ยวได้ไม่น้อย ด้วยเหตุนี้ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) จึงได้ร่วมกับเขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ดำเนินโครงการ “ส่งเสริมการใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว” ภายใต้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการ “ยกระดับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศ” โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้ ความสามารถด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและดิจิทัลคอนเทนต์ เพื่อนำเอาความรู้ดังกล่าวไปใช้ส่งเสริมด้านการตลาด การขายและการบริการ รวมทั้งยังเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการส่งเสริมด้านการตลาดให้แก่วงการอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย

          โครงการนี้มีกิจกรรมในหลายลักษณะ เริ่มจากการสร้างเครือข่ายผู้ประกอบการท่องเที่ยว ซึ่งได้ทำการประชุมหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมท่องเที่ยว เพื่อสำรวจความต้องการ และวางแผนนำเทคโนโลยีสารสนเทศไปใช้ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแต่ละจังหวัดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งหลังจากทราบความต้องการของผู้ประกอบการแล้ว สวทน. และ สวทช. จึงเดินหน้าจัดกิจกรรม ค่ายอาสาพัฒนา Digital Media Challenge นี้ขึ้น ณ จังหวัดเชียงราย เมื่อวันที่ 9 - 12 กุมภาพันธ์ 2560 ที่ผ่านมา โดยกิจกรรมดังกล่าวจะเปิดรับสมัครนิสิต นักศึกษาจากสถาบันอุดมศึกษาที่มีจิตอาสาต้องการทำประโยชน์เพื่อสังคม มาร่วมกิจกรรมลงพื้นที่เก็บข้อมูลในแหล่งท่องเที่ยวที่ต้องการส่งเสริมให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวใหม่ แล้วทำการผลิตผลงานสื่อดิจิทัล ทั้งภาพนิ่งและวีดีโอ เพื่อนำมาใช้ส่งเสริมการท่องเที่ยว

          กิจกรรมในวันงานตัวแทนนักศึกษา 10 ทีม จาก 7 สถาบันการศึกษาที่ผ่านการคัดเลือกแล้ว ได้แก่ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย มหาวิทยาลัยนเรศวร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ร่วมกันลงพื้นที่เก็บข้อมูล เพื่อเตรียมนำมาจัดทำสื่อดิจิทัลแนะนำสถานที่ท่องเที่ยวน่าสนใจของจังหวัดเชียงราย อาทิ ไร่ชาฉุยฟง, วัดร่องเสือเต้น, ถนนคนเดินจังหวัดเชียงราย, งานเชียงรายดอกไม้บาน และการเปลี่ยนสีของหอนาฬิกาประจำเมือง ฯลฯ  ซึ่งหลังเก็บข้อมูลและสร้างสรรค์ผลงานแล้วเสร็จ ในวันถัดมาแต่ละทีม จึงได้นำเสนอผลงานต่อคณะกรรมการ ซึ่งประกอบไปด้วยผู้ทรงคุณวุฒิ ทั้งจากหน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชนด้านการท่องเที่ยว เพื่อให้คำชี้แนะผลงาน รวมถึงทำการตัดสินผลงานที่ได้รับรางวัลชนะเลิศและรางวัลชมเชย โดยผลงานชนะเลิศประเภทคลิปวิดีโอ ได้แก่ ทีมมหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ ผลงานชนะเลิศประเภทชุดภาพถ่าย Chiang Rai Lifestyle ได้แก่ ทีมมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และผลงานชนะเลิศประเภทชุดภาพถ่าย Amazing Chiang Rai ได้แก่ มหาวิทยาลัยนเรศวร

          ทีมงาน สวทน. เปิดเผยว่า กิจกรรมในครั้งนี้ นอกจากจะเป็นการส่งเสริมให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ ได้แสดงออกถึงความรู้ความสามารถและพัฒนาทักษะการผลิตสื่อดิจิทัลแล้ว ยังเป็นการส่งเสริมให้เยาวชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาการท่องเที่ยวในจังหวัดอีกด้วย  โดยผลงานผลิตทั้งหมดของกิจกรรมจะอยู่ในรูปแบบดิจิทัลคอนเทนต์ ซึ่งจะนำไปมอบให้จังหวัดและผู้ประกอบการ SME ท่องเที่ยวของเชียงราย เพื่อนำไปใช้ในการประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวในท้องถิ่นได้ต่อไป

ทั้งนี้หลังจากกิจกรรมค่ายอาสาพัฒนา Digital Media Challenge เสร็จสิ้นแล้ว กิจกรรมต่อไปที่อยู่ในโครงการ “ส่งเสริมการใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว” ซึ่งเตรียมจะจัดขึ้นในเร็วๆ นี้ คือ “การสร้างความรู้ ทักษะ และการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศให้แก่ผู้ประกอบการท้องถิ่น” เพื่อให้ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวจังหวัดได้มีความรู้ สามารถนำเอาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม มาใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว สามารถทำการตลาดผ่านช่องทางออนไลน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อช่วยส่งเสริมการเพิ่มรายได้และเพิ่มจำนวนนักท่องที่ยวที่เข้ามาท่องเที่ยวในจังหวัดให้มากขึ้น

ผลงานชนะเลิศประเภทชุดภาพถ่าย Chiang Rai Lifestyle โดยนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 



ผลงานชนะเลิศประเภทชุดภาพถ่าย Amazing Chiang Rai  โดยนักศึกษามหาวิทยาลัยนเรศวร 

 

ผลงานชนะเลิศประเภทคลิปวิดีโอ : มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์

https://www.youtube.com/watch?v=4r7RzJyciEo

 

ผลงานรองชนะเลิศประเภทคลิปวิดีโอ : มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
https://www.youtube.com/watch?v=ZdZxRDilCiA&feature=youtu.be&app=desktop