สวทน. จับมือ 28 หน่วยงานเครือข่าย เร่งศึกษาวิจัย และพัฒนาระบบขนส่งทางรางไทย ผ่านเวที “ประชุมวิชาการด้านระบบขนส่งทางรางของประเทศไทย”ภายใต้แนวคิด“THAILAND-CHINA HIGH-SPEED RAIL: CONNECTING BORDER, SHARING PROSPERITY”

1 กันยายน 2560  

ระหว่างวันที่ 31 สิงหาคม 2560 – 1 กันยายน 2560 ที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) จัดการประชุมวิชาการด้านระบบขนส่งทางรางของประเทศไทย ครั้งที่ 4 ประจำปี พ.ศ. 2560 (The 4th Thailand Rail Academic Symposium, TRAS2017) ภายใต้แนวคิด“THAILAND-CHINA HIGH-SPEED RAIL: CONNECTING BORDER, SHARING PROSPERITY”Kensington hall โรงแรมเคนซิงตัน อิงลิช การ์เด้น รีสอร์ท เขาใหญ่  อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา หวังกระตุ้นให้เห็นความสำคัญของการพัฒนาระบบขนส่งทางรางและการศึกษาวิจัยที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาระบบขนส่งทางรางของประเทศไทย

ดร. รุ่งโรจน์ กมลเดชเดชา ผู้อำนวยการด้านอุตสาหกรรม 4.0 สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) กล่าวถึงความสำคัญของการประชุมวิชาการด้านระบบขนส่งทางรางของประเทศไทยว่า สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) มีภารกิจในการสนับสนุนการสร้างและพัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งสาขาระบบขนส่งทางรางถือเป็นสาขาหนึ่งที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศเป็นอย่างยิ่ง ประเทศไทยจึงจำเป็นต้องเตรียมความรู้และกำลังคนเพื่อรองรับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านระบบขนส่งทางให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยอาศัยกลไกการรับถ่ายทอดเทคโนโลยีจากต่างประเทศ ร่วมกับการพัฒนากำลังคนและการบ่มเพาะความรู้ภายในประเทศอย่างเหมาะสม สวทน. จึงได้ร่วมกับ “เครือข่ายพัฒนากำลังคนและความเชี่ยวชาญเทคโนโลยีด้านระบบขนส่งทางรางของประเทศ” ซึ่งประกอบด้วย 28 หน่วยงาน ทั้งจากภาครัฐ ภาคอุตสาหกรรมและผู้ประกอบการเดินรถ ภาคการศึกษาและสถาบันวิจัย โดยภายใต้เครือข่ายดังกล่าวได้ร่วมมือกันในการดำเนินกิจกรรมทั้งในด้านของการวางระบบการศึกษาเกี่ยวกับระบบขนส่งทางราง การพัฒนากำลังคน การศึกษาวิจัย การถ่ายทอดเทคโนโลยี และการสร้างความตระหนักให้ทุกภาคส่วนเห็นความสำคัญของการพัฒนากำลังคนและความเชี่ยวชาญเทคโนโลยีด้านระบบราง เพื่อเป็นการสร้างเวทีในการแลกเปลี่ยนความรู้

 

 

 

“สวทน. และ เครือข่ายฯ ได้ริเริ่มให้มีการประชุมวิชาการระบบขนส่งทางรางของประเทศไทย (Thailand Rail Academic Symposium - TRAS) ขึ้น เพื่อให้ทุกภาคส่วนได้เห็นความสำคัญของการพัฒนาระบบขนส่งทางรางของประเทศ ทั้งในด้านที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาทางเศรษฐกิจ สังคม และความสามารถทางเทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยจัดให้มีวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิทั้งในและต่างประเทศมาบรรยายพิเศษด้านการพัฒนาระบบขนส่งทางรางและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องในด้านต่างๆ เพื่อให้ผู้เข้าร่วมได้เรียนรู้ประสบการณ์ในการพัฒนาระบบขนส่งทางราง  แลกเปลี่ยนความรู้และข้อคิดเห็น รวมถึงทราบกรณีศึกษาของระบบขนส่งทางรางที่ประสบความสำเร็จ อันเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญในการพัฒนาด้านระบบขนส่งทางรางของประเทศ ซึ่งสำหรับการประชุมวิชาการระบบขนส่งทางรางของประเทศไทย ครั้งที่ 4 ประจำปี พ.ศ. 2560 (The 4th Thailand Rail Academic Symposium, TRAS2017) ในครั้งนี้ ได้จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “THAILAND–CHINA HIGH–SPEED RAIL: CONNECTING BORDER, SHARING PROSPERITY” ซึ่งมีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีเป็นเจ้าภาพหลัก โดยในงานนี้จะจัดให้มีการนำเสนอบทความวิจัย บทความวิชาการ การปาฐกถาพิเศษจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิจากทั้งในและต่างประเทศ ทั้งทางด้านการพัฒนาระบบขนส่งทางรางและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง นโยบายและแผนโครงการรถไฟความเร็วสูงในประเทศไทย การใช้ประโยชน์จากโครงการรถไฟความเร็วสูง ไทย-จีน เพื่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจ สังคม และความสามารถทางเทคโนโลยีและนวัตกรรม ตลอดจนการสร้างโอกาสสำหรับความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนาทางด้านระบบรางระหว่างหน่วยงานวิจัยของสหภาพยุโรปกับประเทศไทย เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการพัฒนาระบบขนส่งทางรางที่ดี (Good Practices) นอกจากนี้ผู้เข้าร่วมการประชุมจะได้เรียนรู้ถึงการพัฒนางานวิจัยจากทั้งนักวิจัยไทยและต่างประเทศ อันเป็นก้าวที่ต่อเนื่องและมีส่วนสำคัญในการพัฒนาด้านระบบขนส่งทางรางของประเทศอย่างยั่งยืนต่อไป” ดร. รุ่งโรจน์ กล่าว

 

 

 

 

 

 

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม
สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) 
โทรศัพท์ 080-4415450 (วรรณพร)
Email: pr@sti.or.th / Website: www.sti.or.th/sti / Facebook: www.facebook/STI-สวทน.