สวทน. เชิญผู้ทรงคุณวุฒิร่วมเป็นคณะกรรมการส่งเสริมจริยธรรมด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อผลักดันการสร้างความตระหนักด้านจริยธรรมในการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

8 สิงหาคม 2560  

    
 
ปัจจุบันความก้าวหน้าทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้สร้างผลกระทบในมิติต่างๆ ทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม ความมั่นคงและสิ่งแวดล้อม สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการเสริมสร้างความเข้าใจจากผลกระทบของการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีต่อภาคส่วนต่างๆ  จึงได้จัดตั้งคณะกรรมการส่งเสริมจริยธรรมด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีขึ้น เพื่อทำหน้าที่ให้คำปรึกษา และเสนอแนะการจัดทำนโยบายที่เกี่ยวข้องกับศีลธรรมและจริยธรรมของการสร้างและการประยุกต์ใช้องค์ความรู้จากวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมต่อ สวทน. พร้อมทั้งส่งเสริมการพัฒนาด้านจริยธรรมในระดับนโยบาย เพื่อรองรับการพัฒนาและการใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมของประเทศ ตลอดจนเชื่อมโยงกับองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ในเรื่องการส่งเสริมจริยธรรมด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
    
เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2560 เวลา 13.30 น. ณ ห้องประชุมหว้ากอ 1 อาคารจัตุรัสจามจุรี ชั้น 14 สวทน. ได้กำหนดจัดประชุมคณะกรรมการส่งเสริมจริยธรรมด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ครั้งที่ 1/2560 โดยมี นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขและสมาชิกคณะกรรมาธิการโลกว่าด้วยจริยธรรมในความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (World Commission on the Ethics of Scientific Knowledge and Technology, COMEST) เป็นประธาน และมีผู้ทรงคุณวุฒิจากภาคส่วนต่างๆ เป็นกรรมการ อาทิ รศ.นพ.สรนิต ศิลธรรม ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี, นพ.ปฐม สวรรค์ปัญญาเลิศ รองปลัดกระทรวงวิทย์ฯ, ศ.พญ.พรรณแข มไหสวริยะ, รศ.ดร.โสรัจจ์ หงศ์ลดารมภ์, รศ.อุดมเกียรติ นนทแก้ว, ศ.นพ.ประสิทธิ์ ผลิตผลการพิมพ์, รศ.สิรินทรเทพ เต้าประยูร, ดร.นเรศ ดำรงชัย, นพ.สรภพ เกียรติพงษ์สาร และเลขาธิการคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยยูเนสโก เป็นต้น โดยได้รับเกียรติจาก ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรีและประธานคณะกรรมาธิการรัฐบาลระหว่างประเทศว่าด้วยชีวจริยธรรม (Intergovernmental Bioethics Committee, IGBC) ซึ่งปัจจุบันเป็นหนึ่งในสมาชิกคณะกรรมการระหว่างประเทศว่าด้วยชีวจริยธรรม (International Bioethics Committee, IBC) ของ UNESCO ร่วมเป็นที่ปรึกษาร่วมกับ เลขาธิการ สวทน.
     
การประชุมครั้งนี้ คณะกรรมการฯ ได้พิจารณาและเสนอแนะประเด็นจริยธรรมด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่สำคัญสำหรับประเทศไทย เพื่อให้มีการศึกษาเชิงลึกต่อไป โดยแบ่งออกเป็น 4 ประเด็นหลักที่สำคัญ ได้แก่ 1) กลุ่มยีนส์ เซลล์ และการปรับแต่งชีวิต 2) กลุ่มปัญญาประดิษฐ์ หุ่นยนต์และ Big Data 3) กลุ่มการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม 4) กลุ่มจริยธรรมการวิจัย  พร้อมกันนี้ ที่ประชุมมีมติสนับสนุนการตอบรับการทาบทามจาก UNESCO ในการร่วมเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคณะกรรมการจริยธรรมทางชีวภาพระหว่างประเทศของ UNESCO และการประชุมคณะกรรมการโลกด้านจริยธรรมความรู้และเทคโนโลยีทางวิทยาศาสตร์ ในปี 2562 (26th Session of the International Bioethics Committee of UNESCO; IBC and 11th Session of the World Commission on Ethics of Scientific Knowledge and Technology; COMEST) ซึ่งจะจัดการประชุมดังกล่าวขึ้นที่ประเทศไทย โดยจะเป็นเวทีสำคัญในการเสริมสร้างความตระหนักและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นด้านจริยธรรมการสร้างและใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อการพัฒนา ระหว่างกลุ่มผู้กำหนดนโยบาย นักวิทยาศาสตร์ นักวิจัย นักสังคมศาสตร์ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติ
 
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม
สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) 
โทรศัพท์ 02160 5432 ต่อ 703 (นิรมล)
Email: pr@sti.or.th / Website: www.sti.or.th/sti / Facebook: www.facebook/STIReform