รมว. กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหาร สวทน. ครั้งที่ 5/2560

20 กรกฎาคม 2560  

    
วันที่
20 กรกฎาคม 2560 – เวลา 14.00 น. ดร.อรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (บวทน.) ครั้งที่ 5/2560 โดยมี รศ.นพ.สรนิต ศิลธรรม ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นรองประธานกรรมการ และ ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) ทำหน้าที่กรรมการและเลขานุการ ณ ห้องประชุมชั้น 4 อาคารพระจอมเกล้า กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

     

การประชุมครั้งนี้ ที่ประชุมได้ร่วมเสวนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเรื่อง “การพัฒนากลไกสนับสนุนงานวิจัยที่ใกล้ออกสู่ตลาด (Near- market Research Program; NMR)” จากการจัดทำข้อเสนอโดย สวทน. ร่วมกับ นายสักกฉัฐ ศิวะบวร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิใน บวทน. ตามที่ประธานได้มีดำริจากการประชุมครั้งที่ 3/2560 โดยพบว่าในปัจจุบันปัญหาเกิดจากงานวิจัยส่วนใหญ่ เป็นงานวิจัยพื้นฐานและประยุกต์ไม่สามารถต่อยอดและพัฒนาเพื่อให้เกิดประโยชน์และมีผลกระทบเชิงเศรษฐกิจและสังคมได้ และวิธีกำหนดโจทย์วิจัยไม่ได้เป็นไปตามความต้องการของประเทศและไม่สามารถต่อยอดเพื่อพัฒนาเป็นเชิงพาณิชย์ได้ ในการจัดให้มีโปรแกรมการสนับสนุนงานวิจัยที่เป็น NMR ซึ่งมีการพิสูจน์ปัญหาและเสนอแนวทางแก้ไขโดยใช้เครื่องมือที่เหมาะสม อาทิ โมเดลแผนภาพธุรกิจ Business Opportunity Canvas ในการวิเคราะความต้องการของกลุ่มลูกค้า ค้นหาผู้ร่วมก่อตั้งและพันธมิตรทางธุรกิจ เพื่อผลักดันงานวิจัยก้าวข้ามหุบเหวมรณะ (Valley of death) ไปสู่การใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์และตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคอย่างแท้จริง ซึ่งประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากสนับสนุนให้เกิด NMR จะสามารถเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจของอุตสาหกรรมเป้าหมายด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม และสร้างรายได้เพิ่มขึ้น เกิด Startup, Smart SMEs, OTOP และ Exporter ที่เติบโตได้อย่างก้าวกระโดดต่อไป

      

ที่ประชุมได้มีข้อเสนอแนะให้มีการนำร่องและพิสูจน์กลไก NMR ในการผลักดันงานวิจัยให้เกิดการนำไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ โดยเริ่มการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ความต้องการจากผู้ประกอบในภาคอุตสาหกรรมในแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรม และประสานหน่วยงานที่มีกองทุนที่มีวัตถุประสงค์สนับสนุนวิจัยและนวัตกรรม เช่น กองทุน Digital Economy, กองทุน กสทช. , กองทุนพลังงาน และกองทุนสิ่งแวดล้อม ใช้แนวทางของ NMR ในการจัดสรรทุนให้ SME Startup และนักวิจัย โดยกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจะทำหน้าที่สนับสนุนการ Training การจัดการนวัตกรรม “Opportunity Canvas Approach” สำหรับหน่วยงานให้ทุน และผู้ทำ NMR