สวทน. ร่วมประชุม UN CSTD พร้อมคณะผู้แทนไทย หารือแนวทางส่งเสริมนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนและความมั่นคงด้านอาหาร ณ นครเจนีวา

23 มกราคม 2560  

เมื่อวันที่ 23 - 25 มกราคม 2560 องค์การการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (UNCTAD) ได้จัดประชุมคณะกรรมาธิการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนา หรือ CSTD (Commission on Science and Technology for Development) ระหว่างสมัยประชุมประจำปี ค.ศ. 2016 - 2017 ณ สำนักงานสหประชาชาติ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแลกเปลี่ยนและแบ่งปันข้อมูลข่าวสาร ประสบการณ์ แนวปฏิบัติที่ดีเลิศ และคำแนะนำเชิงนโยบายในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ SDGs (Sustainable Development Goals) ด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) ในหมู่ประเทศสมาชิกที่รวมถึงประเทศไทย โดยมีสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) เป็นผู้ประสานงานหลัก และได้ส่งคณะผู้แทนเข้าร่วมการประชุมกับ คณะผู้แทนถาวรไทย ประจำสหประชาชาติ ณ นครเจนีวา มาโดยตลอด


         
สำหรับหัวข้อการประชุมในปีนี้คือ "แนวทางใหม่ของการสร้างนวัตกรรมเพื่อสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน" (New innovation approaches to support the implementation of the Sustainable Development Goals) และ "บทบาทของ วทน. ต่อการเสริมสร้างความมั่นคงด้านอาหารภายในปี ค.ศ. 2030" (The role of science, technology and innovation in ensuring food security by 2030) โดยมีผู้แทนจากประเทศสมาชิก จำนวน 39 ประเทศ และผู้แทนจากภาคประชาสังคม ภาคเอกชน ประชาคมวิทยาศาสตร์ องค์กรในระบบสหประชาชาติ และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่นๆ เข้าร่วมการประชุม

ด้าน รศ.ดร.ศักรินทร์  ภูมิรัตน อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) และนายปรินันท์ วรรณสว่าง นักพัฒนานโยบายด้านการต่างประเทศและการทูตวิทยาศาสตร์ สวทน. คณะผู้แทนไทยที่ไปเข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ ได้กล่าวถ้อยแถลงต่อที่ประชุมในหัวข้อ "บทบาทของ วทน. ต่อการเสริมสร้างความมั่นคงด้านอาหาร"  ว่าประเทศไทยได้น้อมนำเอาหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมาเป็นกรอบในการพัฒนาประเทศสู่ความยั่งยืน ซึ่งการพัฒนาเกษตรอย่างยั่งยืนตามแนวพระราชดำรินี้ จะสามารถทำให้ประเทศไทยบรรลุความมั่นคงทางอาหารได้ ซึ่งในการนี้หลายหน่วยงาน รวมทั้งมหาวิทยาลัยต่างๆ ได้ดำเนินการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีที่เหมาะสม สำหรับการสร้างภูมิคุ้มกันของเกษตรกรไทยต่อความเปลี่ยนแปลง รวมถึงเสริมสร้างระบบนวัตกรรมที่เชื่อมโยงเกษตรกรรายย่อยให้เข้าถึงองค์ความรู้และตลาด เพื่อให้สามารถสร้างหลักประกันรายได้และความมั่นคงด้านอาหารและโภชนาการอย่างทั่วถึง ซึ่งการสร้างหลักประกันด้านโภชนาการอย่างทั่วถึงนี้ นับว่าเป็นสิ่งท้าทายที่ไทยให้ความสำคัญ



  สำหรับหัวข้อ “แนวทางใหม่ๆ ในการสร้างนวัตกรรมเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน” ได้กล่าวถึงการส่งเสริมให้แนวคิดที่ดีสามารถกลายเป็นนวัตกรรมได้ โดยผ่านนโยบายส่งเสริมสตาร์ทอัพ (Startups) ซึ่งมีความมุ่งหวังที่จะให้ธุรกิจนวัตกรรมเกิดใหม่เหล่านี้ เป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เติบโตได้อย่างยั่งยืน และกระตุ้นให้เกิดนวัตกรรมชาวบ้าน (Grassroots Innovation) และนวัตกรรมสังคม (Social Innovation) ที่สามารถเปลี่ยนแปลงสังคม และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างทั่วถึงและยั่งยืน โดยในการนี้นักวิทยาศาสตร์และนักเทคโนโลยีต้องทำงานอย่างใกล้ชิดกับผู้ใช้ประโยชน์จากนวัตกรรม ผ่านแนวทางการเรียนรู้ทางสังคมเชิงบูรณาการ เช่น Social lab ที่ มจธ. ได้นำมาทดลองใช้จนเกิดผลสำเร็จ

           ทั้งนี้ประเทศไทยเห็นว่าการนำ วทน. มาใช้เพื่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในสังคม และความร่วมมือระหว่างประเทศต่างๆทั่วโลก จึงจะมีโอกาสบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ที่ท้าทายภายในปี ค.ศ. 2030 ตามที่สหประชาชาติกำหนด
 
ปรินันท์ วรรณสว่าง  รายงาน