“ประยุทธ์” ทุบโต๊ะ ตั้งสำนักงานการวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ ให้เสร็จภายใน 3 เดือน ระบุชัดต้องสังกัดสำนักนายกฯ ในระยะตั้งไข่

20 กันยายน 2560  


ทำเนียบรัฐบาล / เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2560 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมสภานโยบายวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวนช.) ครั้งที่ 3/2560 โดยมี พลอากาศเอกประจิน จั่นตอง ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะรองประธานคนที่ 1 และ 2  รัฐมนตรีในกระทรวงที่เกี่ยวข้อง ผู้แทนหน่วยงานภาครัฐและเอกชนเข้าร่วมประชุมกันอย่างพร้อมเพรียง

โดยนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวในที่ประชุมว่า งานวิจัยเป็นสิ่งสำคัญในการพัฒนาประเทศในทุกมิติ ทั้งเรื่องของ เศรษฐกิจ สังคม ความมั่นคง การที่มีหน่วยงานที่เข้ามากำกับเพื่อช่วยให้การขับเคลื่อนงานวิจัยได้ครอบคลุมจึงมีความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการ  ในฐานะนายกรัฐมนตรี และประธาน สวนช. จึงขอสั่งการให้มีการจัดตั้ง สำนักงานการวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ ให้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือน โดยในระยะแรกให้สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี และเชิญผู้ทรงคุณวุฒิที่เชี่ยวชาญทางด้านระบบวิจัยและนวัตกรรมทั้งภาครัฐ เอกชน และภาคการศึกษา เข้ามาเป็นที่ปรึกษา โดยการดำเนินงานของสำนักงานในระยะแรกให้มีการสังเกตการณ์และประมวลผลการทำงานเพื่อประเมินประสิทธิภาพและความคล่องตัวในการดำเนินงานของสำนักงานฯ เพื่อนำข้อมูลมาวางแผนการดำเนินงานของสำนักงานในระยะที่ 2 ว่าจะดำเนินงานในรูปแบบใดต่อไป พร้อมกับย้ำว่าปัจจัยหลักที่ต้องพัฒนาเป็นอันดับแรกคือ คน เพราะในทุกระบบล้วนต้องมีคนเป็นตัวขับเคลื่อนประเทศจะเดินหน้าหรือหยุดอยู่กับที่ล้วนมีคนเป็นตัวแปรสำคัญ
 
อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรี ย้ำว่า ยุทธศาสตร์การวิจัยและนวัตกรรม ต้องนำไปสู่การปฏิบัติได้จริง และเน้นย้ำการจัดสรรงบประมาณด้านการวิจัยและนวัตกรรมลงพื้นที่อย่างเหมาะสม โดยให้คำนึงถึงภูมิภาคทั้ง 6 ภูมิภาคของประเทศ โดยเฉพาะภาคตะวันออก ทั้งนี้เพื่อให้เกิดการกำหนดเป้าหมายด้านการจัดสรรงบประมาณให้ชัดเจนและมีประสิทธิภาพ และควรมีการเพิ่มเติมในส่วนของงานวิจัยเพื่อแก้ไขปัญหาประเทศ อาทิ เรื่องน้ำ และเรื่องผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำ เป็นต้น 
 
ขณะที่นายกานต์ ตระกูลฮุน อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เอสซีจี กรุ๊ป จำกัด ในฐานะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สวนช. กล่าวว่า ในฐานะอยู่ในภาคเอกชน ต้องบอกว่าวันนี้ภาคเอกชนตื่นตัวและให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมขึ้นมาก เนื่องจากรัฐบาลให้ความสำคัญและลงมากำกับดูแลอย่างใกล้ชิด ส่งผลให้ภาคเอกชนลงทุนวิจัยเพิ่มขึ้น จากที่เคยลงทุนเพียง 0.2 % มานับสิบปี เพิ่มสูงขึ้นเป็น 0.62 ในปี 2558 และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ขณะเดียวกันไม่ใช่กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เท่านั้นที่จะขับเคลื่อนเรื่องงานวิจัย ตอนนี้หลาย ๆ กระทรวงก็ชูประเด็นงานวิจัยในการพัฒนาประเทศ ซึ่งถือเป็นแนวทางที่ดี แม้จะไม่ใช่เรื่องง่ายในการเปลี่ยนแปลง แต่ก็ขอชื่นชมนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลที่จุดประกายและผลักดันให้เกิดการตื่นตัวด้านงานวิจัยในทุกภาคส่วน
 
ด้าน ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมชาติ (สวทน.) เปิดเผยว่า ตามที่นายกรัฐมนตรีได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการและอนุกรรมการภายใต้ สภานโยบายวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ โดยได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการด้านนโยบายและยุทธศาสตร์การวิจัยและนวัตกรรม ซึ่งมี สวทน. และสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เป็นเลขานุการร่วม ได้ดำเนินการประชุมหารือและประชุมเชิงปฏิบัติการ รวมถึงได้จัดประชุมประชาพิจารณ์ (ร่าง) ยุทธศาสตร์การวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ 20 ปี ไปแล้วเมื่อวันอังคารที่ 12 กันยายน 2560 ที่ผ่านมา โดยฝ่ายเลขานุการร่วม ได้ปรับแก้รายละเอียดของ (ร่าง) ยุทธศาสตร์ฯ ดังกล่าว ตามข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากการประชุมต่าง ๆ และได้นำเสนอ (ร่าง)  ยุทธศาสตร์ฯ ต่อที่ประชุม สวนช. โดยที่ประชุมได้เห็นชอบ (ร่าง) ยุทธศาสตร์ ดังกล่าว และเสนอให้เพิ่มเติมในส่วนของยุทธศาสตร์ด้านดิน น้ำ และป่าไม้ ซึ่งรวมถึงระบบป้องกันภัยธรรมชาติ และการรับมือกับด้านเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อให้ครอบคลุมการทำงานในทุกมิติ
 
ทั้งนี้ ในที่ประชุม ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ได้มอบหมายให้เลขานุการร่วม สวนช. หาวิธีการจัดสรรงบประมาณด้านการวิจัยและนวัตกรรมกระจายลงในแต่ละภูมิภาคอย่างมีประสิทธิภาพ โดยอาจใช้รูปแบบการจัดสรรงบประมาณโดยการจัดตั้งกองทุนว่าด้วยเรื่องวิจัยและนวัตกรรม และการให้สิทธิประโยชน์ต่าง ๆ เป็นต้น
 
 
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม
สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) 
โทรศัพท์ 02160 5432 (วรรณพร) 081-7536119 (แพรประพันธ์)
Email: pr@sti.or.th / Website: www.sti.or.th/sti / Facebook: www.facebook/STI-สวทน.