สวทน. เชิญภาคเอกชนร่วมจัดทำแผนงานการวิจัยและนวัตกรรม เพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย

25 สิงหาคม 2560  

      

จากมติที่ประชุมสภานโยบายวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวนช.) ครั้งที่
2/2560 เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2560 ได้มอบหมายให้กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดย สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) ดำเนินการจัดทำแผนงานการวิจัยและนวัตกรรมเพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย (Spearhead Program) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการกลุ่มนวัตกรรมเพื่ออุตสาหกรรม (Industrial Innovation Consortium) โดยเน้นให้ภาคเอกชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมเป้าหมายเข้ามามีส่วนสำคัญในการเสนอแนะการจัดทำยุทธศาสตร์ด้านวิจัยและแผนงานการวิจัยและนวัตกรรม และช่วยสนับสนุนการประสานงานกับเครือข่ายภาคอุตสาหกรรมเพื่อขับเคลื่อนแผนงานดังกล่าว ในการสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย

 
วันที่ 25 สิงหาคม 2560 เวลา 9.30 น. ณ ห้องประชุมหว้ากอ อาคารจัตุรัสจามจุรี ชั้น 14 สวทน. ได้จัดการประชุมคณะกรรมอำนวยการกลุ่มนวัตกรรมเพื่ออุตสาหกรรม (Industrial Innovation Consortium: IIC) ครั้งที่ 1/2560 โดยมี ดร.อรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นประธานในการประชุม พร้อมด้วย เลขาธิการ สวทน. และผู้แทนจากภาคเอกชน ทั้ง 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย ร่วมเป็นกรรมการ อาทิ ดร.ขัติยา ไกรกาญจน์ ผู้แทนจากอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ คุณพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล ผู้แทนจากอุตสาหกรรมเกษตร น.สพ.รุจเวทย์ ทหารแกล้ว ผู้แทนจากอุตสาหกรรมอาหาร คุณสมบูรณ์ พิทยรังสฤษฏ์  ผู้แทนจากอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ เป็นต้น ที่ประชุมได้พิจารณา (ร่าง) แผนงานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย ตามยุทธศาสตร์การวิจัยและนวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์การสร้างความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจของประเทศ

    

ดร.อรรชกาฯ รมว.วิทย์ฯ ได้กล่าวว่า คณะกรรมการชุดนี้จะช่วยกำหนดทิศทาง โจทย์วิจัยที่เร่งด่วน เพื่อเป็นแนวทางดำเนินการเพื่อปรับระบบนโยบายและยุทธศาสตร์การวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ เพื่อให้เกิดผลเชิงพาณิชย์จริง โดยภาคเอกชนเป็นผู้มีส่วนสำคัญในการกำหนดโจทย์วิจัยและการขับเคลื่อนเศรษฐกิจนวัตกรรรมของประเทศ ทั้งนี้ ข้อเสนอแนะและข้อคิดเห็นจากที่ประชุมจะเป็นประโยชน์ในการช่วยให้รัฐบาลสามารถจัดสรรรงบประมาณวิจัยได้อย่างเหมาะสม

      

ด้าน ดร.กิติพงค์ เลขาธิการ สวทน. กล่าวว่า สวทน. จะทำหน้าที่ช่วยประสานและสนับสนุนในการจัดทำข้อเสนอการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมของอุตสาหกรรมรายสาขาใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ในการเลือกพัฒนาโจทย์วิจัยที่สำคัญและเร่งด่วน ที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่ม เกิดรายได้ ตอบโจทย์ความต้องการของภาคอุตสาหกรรม และสามารถส่งเสริมภาคเอกชนเข้ามาร่วมใช้ประโยชน์ได้ ซึ่งข้อเสนอดังกล่าวจะได้รับการนำเสนอต่อ สวนช. เพื่อนำไปสู่แผนการวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ แก้ไขข้อจำกัดและอุปสรรคการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ของภาคอุตสาหกรรม โดยคณะกรรมการชุดนี้จะมีดำเนินการติดตามประเมินผลอย่างต่อเนื่องในทุกๆ เดือนต่อไป

      

คณะกรรมการจากภาคอุตสาหกรรมได้ให้ข้อคิดเห็นว่า โจทย์วิจัยที่เร่งด่วน ควรพิจารณาตลอดห่วงโซ่มูลค่า  เกิดผลกระทบเชิงกว้าง โดยพิจารณาตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง และปลายทาง จนเป็นผลิตภัณฑ์เชิงพาณิชย์ ที่สามารถผลิตเป็นสินค้าที่ออกสู่ตลาดจริงได้ โดยจะจัดทำเป็นข้อเสนอโครงการสำหรับโจทย์วิจัยที่สำคัญ 2 ระยะ คือ 1) ระยะเร่งด่วน และ 2) ระยะกลางและยาว เพื่อให้ได้ผลงานที่ใช้จริงได้ ทั้งนี้ จะมีการนำเสนอผลสรุปข้อคิดเห็นที่ได้นำเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการบูรณาการบริหารจัดการปฏิรูประบบวิจัยและนวัตกรรม ในสิ้นเดือนนี้ โดยมี พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธานในการประชุม

 

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม
สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) 
โทรศัพท์ 02160 5432 ต่อ 703 (นิรมล) 081-7536119 (แพรประพันธ์)
Email: pr@sti.or.th / Website: www.sti.or.th/sti / Facebook: www.facebook/STIReform