เลขาธิการ สวทน. ดำเนินการอภิปรายหัวข้อ “From Innovation to Sustainable Industrialization” ในงาน “Global Business Dialogue : Sustainable Development Goals”

16 มิถุนายน 2560  


 
เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2560 - สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) ร่วมกับ กระทรวงการต่างประเทศ ได้กำหนดจัดงาน “Global Business Dialogue : Sustainable Development Goals” ขึ้น ในระหว่างวันที่ 15 - 16 มิถุนายน 2560 ณ โรงแรมพลาซ่า แอทธินี รอยัล เมอริเดียน โดยมีจุดประสงค์เป็นเวทีที่มุ่งเน้นการสร้างความตระหนักรู้ การทำความเข้าใจอย่างถ่องแท้เกี่ยวกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนและผลกระทบต่อมวลมนุษยชาติ อีกทั้งจะมีการอภิปรายถึงประเด็นต่างๆ ที่เป็นเรื่องสำคัญและเร่งด่วนของประเทศไทย องค์ความรู้จากประสบการณ์ตรงโดยผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายอุตสาหกรรม ภาคเอกชน และภาครัฐ ที่ทุกคนสามารถนำไปปรับใช้ได้จริง และร่วมเสนอแนวทางในการจัดการกับปัญหาต่างๆ ของประเทศ 

ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) ได้เข้าร่วมเป็นผู้ดำเนินการอภิปรายหัวข้อ “From Innovation to Sustainable Industrialization” โดยมีผู้เข้าร่วมอภิปราย ประกอบด้วย 1) ดร. ธัญญวัฒน์ เกษมสุวรรณ ผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรม บริษัท ไทยยูเนี่ยนกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) 2) คุณนำพล ลิ้มประเสริฐผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาอย่างยั่งยืนเอสซีจี 3) ดร.สวนิตย์ บุญญาสุวัฒน์ ผู้จัดการส่วนหน่วยงานกลยุทธ์และนโยบายความยั่งยืน บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) 4) Mr. Harsha Reddy, Head of Global Sustainability Indorama Ventures Public Company Limited และ 5) Mr. Srinivasan Ramabhadran, Managing Director Asia Pacific, DuPont Sustainable Solutions โดยได้เสวนาแลกเปลี่ยนหารือประเด็นสำคัญว่าภาคอุตสาหกรรมจะมีส่วนในการอนุวัติเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนได้อย่างไร ยุทธศาสตร์นวัตกรรมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โอกาสของประเทศไทยในการเชื่อมโยงการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันเข้ากับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน และปัจจัยสำคัญที่ระบบนิเวศนวัตกรรมของไทยต้องมีเพื่อให้อุตสาหกรรมไทยก้าวไกลสู่เวทีโลก

 

อนึ่ง องค์การสหประชาชาติได้ริเริ่มจัดทำ “เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือ Sustainable Development
Goals (SDGs)” ขึ้นในปี พ.ศ. 2555 เพื่อใช้เป็นทิศทางการพัฒนาระดับนานาชาติตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 – 2573 จึงเป็นแผนแม่บทของประชาคมโลกที่จะใช้ในการขับเคลื่อนให้โลกเข้าสู่ความยั่งยืน และยังเป็นทิศทางการพัฒนาที่จะช่วยสร้างความมั่นใจให้ทุกคนอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขได้อย่างแท้จริง ทั้งนี้ SDGs ประกอบด้วย 17 เป้าหมายและ 169 เป้าประสงค์ที่มีความเชื่อมโยงและสนับสนุนซึ่งกันและกัน โดยการใช้ SDGs เป็นแนวทางในการปฏิบติร่วมกันทั่วโลก ทั้งนี้ ประเทศไทยมีความพร้อมที่จะเข้าร่วมในการพัฒนาอย่างยั่งยืนในฐานะที่เป็นประเทศหนึ่งที่มีความรับผิดชอบต่อโลกนี้ โดยได้มีการนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง (Sufficiency Economy Philosophy, SEP) ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระราชทานให้ใช้เป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตอย่างสมดุลและพอเพียง เพื่อช่วยแก้ปัญหาต่างๆ และพัฒนาต่อไปบนพื้นฐานที่มั่นคง นอกจากนั้น การนำเอาหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนมาเป็นแนวทางในการพัฒนาประเทศจะช่วยให้ประเทศไทยสามารถบรรลุเป้าหมายในการพัฒนายกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศได้อีกด้วย