รมว. กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหาร สวทน. ครั้งที่ 3/2560

27 เมษายน 2560  


วันที่ 27 เมษายน 2560 – เวลา 13.30 น. ดร.อรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (บวทน.) ครั้งที่ 3/2560 โดยมี รศ.นพ.สรนิต ศิลธรรม ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นรองประธานกรรมการ และ ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) ทำหน้าที่กรรมการและเลขานุการ ณ ห้องประชุมหว้ากอ 1 อาคารจัตุรัสจามจุรี ชั้น 14 สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.)


การประชุมในครั้งนี้ ที่ประชุม บวทน. ได้ร่วมเสวนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เรื่องการพัฒนานวัตกรรมอาหารพร้อมทาน จากการนำเสนอรายงานการวิเคราะห์แนวโน้มตลาดนวัตกรรมและเทคโนโลยีของอุตสาหกรรม (Industrial Innovation Outlook) ของ สวทน. โดยศูนย์ข้อมูลและคาดการณ์เทคโนโลยี ที่ได้ดำเนินการศึกษาข้อมูลเชิงลึก เพื่อค้นหาโจทย์วิจัย RDI ที่จะเสริมสร้างขีดความสามารถให้กับภาคอุตสาหกรรม โดยขอบเขตเนื้อหาที่ทำการศึกษาพบว่า 1. แนวโน้มใหญ่ของโลกปัจจุบันและปัจจัยกระตุ้นความต้องการของอาหารพร้อมทาน มาจากหลายปัจจัย เช่น การดำเนินวิถีชีวิตที่มีความเร่งรีบและต้องการความสะดวกสบาย การเติบโตของสังคมสูงวัย และการสร้างสรรค์นวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ ในกระบวนการผลิต การรักษาความสดใหม่ของอาหารเพิ่มขึ้น 2. สถานภาพและแนวโน้มโลกของตลอดอาหารพร้อมทาน ซึ่งได้คาดการณ์ว่าอีก 5 ปีข้างหน้ายังคงมีอัตราเติบโตเฉลี่ย 4% โดยตลาดที่น่าจับตามองคือรัสเซีย 3. สถานภาพและแนวโน้มนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่สำคัญของโลก มีการเน้นพัฒนาอาหารพร้อมทานเพื่อสุขภาพและสำหรับผู้สูงวัย เพิ่มมูลค่าให้แก่ผลิตภัณฑ์ มีการให้เงินทุนแก่ Startup เพื่อพัฒนาไอเดียและผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เพิ่มขึ้น 4. ความท้าทาย/อุปสรรค และข้อเสนอแนะการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีของไทย จากการสัมภาษณ์จากผู้ประกอบการพบว่ายังขาดแคลนผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง การเข้าถึงห้องปฏิบัติการยังเป็นไปได้ยาก ทั้งนี้ในภาพรวมสรุปได้ว่าการพัฒนานวัตกรรมอาหารพร้อมทานในอนาคตมีแนวโน้มที่จะพัฒนาเป็นอาหารสุขภาพ อาหารเพื่อผู้สูงวัย เพิ่มมากขึ้น ซึ่งที่ประชุมได้ให้ข้อแนะนำว่า เพื่อที่จะได้โจทย์วิจัยที่ชัดเจนและตรงความต้องการ และเป็นข้อมูลเชิงลึกในการจัดทำข้อเสนอแนะและมาตรการสนับสนุน อาจพิจารณาสัมภาษณ์ที่มีส่วนเกี่ยวข้องเพิ่มเติม และควรนำข้อมูลด้านการบริโภคและการส่งออกของประเทศ มาประกอบการวิเคราะห์ รวมถึงวิเคราะห์ข้อมูลเฉพาะเจาะจงสำหรับแต่ละประเภทบริษัท เช่น บริษัทต่างชาติ บริษัทไทยที่มีศักยภาพในระดับโลก และ SMEs ไทย
 
  
และอีกหนึ่งวาระสำคัญ ได้แก่ การเสวนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เรื่องการวิเคราะห์ความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยในเวที ไอเอ็มดี (International Institute for Management Development: IMD) ซึ่งได้เผยแพร่ผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขัน (World Competitiveness) ล่าสุดในปี 2559 ภาพรวมของประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 28 จาก 61 ประเทศ ขึ้นมา 2 อันดับ ในการประชุมครั้งนี้ สวทน. เน้นวิเคราะห์ปัจจัยด้านโครงสร้างพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งสรุปได้ว่า ปัจจัยย่อยที่เป็นจุดอ่อนของประเทศไทย เช่น สิทธิบัตร การลงทุนวิจัยเทียบต่อ GDP บุคลากรวิจัยและพัฒนาเทียบต่อประชากร ข้อมูลที่ได้จากการสำรวจทัศนคติ (การดึงดูดนักวิจัย การถ่ายทอดความรู้) เป็นต้น
 
  
สวทน. เป็นหนึ่งในหน่วยงานที่ทำหน้าที่จัดส่งข้อมูลด้านการวิจัยและพัฒนาให้กับ สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (Thailand Management Association; TMA) โดย สวทน. เป็นผู้สำรวจข้อมูลการวิจัยและพัฒนาและกิจกรรมนวัตกรรมของภาคเอกชน ซึ่งในปี 2558 ภาคเอกชนมีค่าใช้จ่ายวิจัยและพัฒนา 59,442 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 73 จากปี 2557 ซึ่งเมื่อรวมกับค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนาของภาครัฐ (รวมภาคอื่นๆ) จะทำให้ค่าใช้จ่ายวิจัยและพัฒนาโดยรวมของประเทศ 84,671 ล้านบาท (คิดเป็นร้อยละ 0.62 ต่อ GDP) สำหรับจำนวนบุคลากรด้านการวิจัยและพัฒนาภาคเอกชนมีจำนวน 49,004 คน-ปี (Full-time equivalent : FTE) ซึ่งเมื่อรวมกับบุคลากรด้านการวิจัยและพัฒนาของภาครัฐ (รวมภาคอื่น ๆ ) ทำให้มีจำนวนบุคลากรด้านการวิจัยและพัฒนาโดยรวม 89,617 คน-ปี (Full-time equivalent : FTE) หรือคิดเป็น 13.6 คน-ปี ต่อ ประชากร 10,000 คน นอกจากนี้พบว่าบุคลากรวิจัยระดับปริญญาเอกยังมีส่วนน้อยในภาคเอกชน

สำหรับข้อเสนอการปรับปรุงขีดความสามารถในการแข่งขันด้านโครงสร้างพื้นฐานวิทยาศาสตร์ เช่น นโยบายส่งเสริมการลงทุนตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนาของบริษัทไทยและต่างประเทศ และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้อต่อกิจกรรมวิจัยและพัฒนา ซึ่งปัจจุบันมีโครงการนำร่องอย่าง Food Innopolis ที่ได้ดำเนินการไปแล้ว และการปรับปรุงระบบจดทะเบียนสิทธิบัตรในไทยให้มีเจ้าหน้าที่เพียงพอในการพิจารณา รวมถึงการปรับปรุงการจัดเก็บข้อมูล โดยมอบหมายให้มีเจ้าภาพรวบรวมข้อมูลด้านโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ให้แก่ TMA เพื่อส่งต่อให้กับ IMD ต่อไป ทั้งนี้ ประชุมได้ให้ข้อคิดเห็นว่า สำหรับการจดสิทธิบัตร ต้องมีการผลักดันให้เป็นตัวชี้วัดสำหรับนักวิชาการในมหาวิทยาลัย ควบคู่กับการลงทุนวิจัยและพัฒนา เพื่อให้เกิดกลไกที่ทำให้เกิดการลงทุนวิจัยอย่างจริงจังมากขึ้น โดย สภานโยบายวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวนช.) จะมีส่วนช่วยในการขับเคลื่อนมาตรการที่ช่วยส่งเสริมการลงทุนวิจัยได้

ข้อมูลเพิ่มเติมงานประชาสัมพันธ์:
สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.)
โทรศัพท์ 0 2160 5432 - 7 ต่อ 703 (นิรมล)
Email: pr@sti.or.th / Website: www.sti.or.th/sti / Facebook: www.facebook/STIReform