ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ เลขาธิการ สวทน. ร่วมงาน “ประชารัฐร่วมใจ สู่สังคมสูงวัยอย่างมีคุณภาพ”

15 มีนาคม 2560  


 

15 มีนาคม 2560 – ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) เข้าร่วมงาน การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างองค์กรของรัฐที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติเฉพาะ และการประชุมวิชาการประจำปีที่ประชุมผู้บริหารองค์กรของรัฐที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติเฉพาะ (ทอพ.) 16 องค์กร ภายใต้หัวข้อ “ประชารัฐร่วมใจ สู่สังคมสูงวัยอย่างมีคุณภาพ” โดยในปีนี้ สำนักงานกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ได้เข้าร่วมเป็นองค์กรที่ 16 ซึ่งจัดขึ้น ณ ห้องประชุมสานใจ ๑ ชั้น ๖ อาคารสุขภาพแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข

ด้านตัวแทนพนักงานจาก สวทน.ได้มาร่วมออกบู้ทจัดนิทรรศการแนะนำหน่วยงาน พร้อมนำหนังสือ “การคาดการณ์เพื่อสังคมสูงวัยในอนาคต” ที่ ศาสตราจารย์ ดร.เกื้อ วงศ์บุญสิน และ ศาสตราจารย์ ดร.พัชราวลัย วงศ์บุญสิน เป็นผู้เรียบเรียงจัดทำ และมอบให้ สวทน. ดำเนินการจัดพิมพ์ขึ้น เพื่อเป็นหนึ่งในข้อเสนอแนะเชิงยุทธศาสตร์สำหรับการทำงานในอนาคต โดยหนังสือดังกล่าวมีเนื้อหาเกี่ยวกับการคาดประมาณประชากรไทยในระยะ 3 ทศวรรษข้างหน้า ที่พบว่าสังคมไทยกำลังจะเปลี่ยนไปสู่สังคมผู้สูงวัย อะไรคือปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดสภาวะดังกล่าวขึ้น พร้อมคาดการณ์ว่าอาจเกิดปัญหาใดขึ้นบ้างกับสังคมผู้สูงวัยที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้ และประเทศไทยควรเตรียมมือรับกับสถานการณ์ดังกล่าวอย่างไร

ทั้งนี้ได้รับเกียรติจาก ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมมูลนิธิชัยพัฒนา กล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “สูงวัยอย่างมีคุณค่า น้อมนำพัฒนาวิถีเศรษฐกิจพอเพียง” โดย ดร.สุเมธ แนะให้ผู้สูงอายุให้ดุแลทั้งร่างการและจิตใจ ย้ำ "อย่าหยุดการทำงาน" จะทำให้ร่างกายหยุดทำงานไปด้วย เน้นทำจิตใจร่าเริง ซึ่งตนเองก็ยังทำงานอยู่แม้ทุกวันนี้จะอยู่ในวัย 78 ปี แนะหลักคิด "ผู้สูงอายุควรอยู่อย่างสง่า ตายอย่างสงบ ตอนมีชีวิตอยู่ต้องใช้ชีวิตอย่างสง่างามในตัวเอง ช่วยตัวเองได้ มีคนเคารพนับถือ เมื่อถึงเวลาก็ตายอย่างสงบ และมีภาวะจิตที่ดี"

นอกจากนี้ภายในงานยังได้จัดเสวนาทางวิชาการในหัวข้อที่น่าสนใจ 2 หัวข้อได้แก่ “รวมพลังสร้างสรรค์พัฒนาสังคมสู่สังคมสูงวัย” และหัวข้อ “สานพลังปัญญาสู่สังคมสูงวัย” อีกด้วย

สำหรับองค์กรของรัฐที่จัดตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ. เฉพาะ ทั้ง 16 องค์กร ถือเป็นรูปแบบใหม่ขององค์กรรัฐที่สามารถดำเนินงานได้อย่างยืดหยุ่นคล่องตัวกว่าหน่วยงานที่อยู่ในระบบราชการปัจจุบัน เพื่อการรองรับและตอบสนองต่อการปฏิรูปประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพในหลากหลายด้าน ประกอบด้วย 

 

   

1. สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ 
2. สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ 
3. สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 
4.สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ 
5. สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข 
6.สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 
7.สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ 
8. สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ 
9. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย 
10. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ 
11. สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม 
12. สำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ 
13. สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา 
14. สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา 
15. สถาบันอนุญาโตตุลาการ 
16. สำนักงานกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์

กระทรวงสาธารณสุข